xs
xsm
sm
md
lg

ธนชาตวาดแผนรุก SME ไซส์ S ตั้งเป้าโต 36% ชูอนุมัติเร็วล่อใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธนชาต” เดินหน้ารุกเอสเอ็มอีเต็มที่หลังปรับระบบเสร็จ เผยครึ่งปีแรกปล่อยกู้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ มียอดคงค้าง 8.5 หมื่นล้าน จากเป้าทั้งปี 9 หมื่นล้าน โต 18% ชูกลยุทธ์อนุมัติเร็ว 2 วัน ยันไม่ห่วงบริโภคชะลอ คาดครึ่งปีหลังกระเตื้องรับหลากเทศกาล

นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ ผู้บริหารกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารจะรุกธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ หลังจากได้พัฒนาระบบต่างๆ พร้อมแล้วเมื่อปลายปีก่อน โดยช่วงครึ่้งปีแรกที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้าง 85,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ ณ สิ้นปี 56 มียอดคงค้าง 90,000 ล้านบาท หรือเติบโต 18%จากปีก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่สุทธิครึ่งปีแรกมีจำนวน 5,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังธนาคารจะเน้นในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท) มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีช่องทางให้ขยายเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งในส่วนของเอสเอ็มอีขนาดเล็กจะใช้การขยายสินเชื่อผ่านช่องทางสาขาธนาคารเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่สาขาของธนาคารกว่า 600 แห่ง สามารถรองรับได้ ขณะที่เอสเอ็มอีขนาดใหญ่ และกลางจะผ่านทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารเป็นหลัก โดยได้ตั้งเป้าสินเชื่อรายเล็กโต 36% รายกลางโต 17-18% และรายใหญ่โต 7%

ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น อยู่ในระดับ 1% กว่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเอ็นพีแอลทั้งระบบที่ 2% กว่า และคาดว่าในปีนี้จะยังคงรักษาระดับเอ็นพีแอลไว้ใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ เนื่องจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กถือว่าเป็นลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีมาก ขณะที่รายใหญ่-กลางที่ผ่านมาอาจจะได้รับผลกระทบบ้างเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาบ้าง เนื่องจากบางส่วนอยู่ในธุรกิจการค้าต่างประเทศ ซึ่งธนาคารเองก็ติดตาม และให้คำปรึกษาอยู่ต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการหาตลาดใหม่ และควบคุมต้นทุน

“ปัจจุบันธนาคารมีมาร์เกตแชร์สินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 5% ซึ่งเราก็ไม่ได้เซตเป้าหมายเอาไว้เป็นตัวเลขขนาดนั้น แต่ตั้งเป้าจะเป็น TOP 5 ที่จะลูกค้าจะนึกถึง”

นอกจากนี้ ล่าสุด ธนาคารออกโฆษณาชุดใหม่ สินเชื่อธนชาต SME UP ที่จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ต้องการขยายธุรกิจเพิ่ม ทั้งในด้านของการต่อเติมร้าน ขยายร้าน หรือเพิ่มสาขา โดยใช้จุดเด่นที่การอนุมัติที่รวดเร็วภายใน 2 วัน หากหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 8-9% ส่วนรายใหญ่ (วงเงิน 50 ล้านบาทขึ้นไป) อัตราดอกเบี้ย 6-7% ขนาดกลาง (วงเงิน 10-50 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 7-8%

นายจิรชยุติ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่รุกรายเล็กก็จะชูเรื่องเวลาที่่อนุมัติที่รวดเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งหากเอกสารครบถ้วนถูกต้อง ภายใน 2 วันก็อนุมัติได้ แต่ปัจจุบันยังมีบางส่วนที่ใช้เวลานานกว่านั้น เป็น 2-4 วัน หรือ 7-12 วันนับแต่เริ่มคุย เนื่องจากติดปัญหาด้านเอกสาร แต่ ณ สิ้นปีนี้จะพยายามจัดให้ได้ 2 วันทุกรายการ

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังที่หลายฝ่ายเกรงว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคจะลดลงต่อเนื่องนั้น ธนาคารคาดว่า ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 น่าจะเป็นช่วงที่กระเตื้องขึ้น เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังมีเทศกาลหลายอย่างซึ่งน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ จึงไม่น่ากระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น