สศค. คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 3.7 เฝ้าระวังปัจจัยทางการเมือง และเศรษฐกิจโลก แต่ไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง สถาบันการเงินของไทยยังดี เงินเฟ้อไม่สูง ว่างงานต่ำ ปีหน้าคาดโตกว่าปีนี้ แต่ต้องติดตามใกล้ชิด เตรียมตัวรับมือ 4 ปัจจัยเสี่ยง ทั้งตลาดโลกหด ความต้องการสินค้าลด ค่าเงินผันผวน ดอกเบี้ยแพง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยปี 2556 จะเปิดเผยตัวเลขในเดือนธันวาคม แต่เบื้องต้นเศรษฐกิจไทยชะลอลงด้วยตัวเลขการคาดการณ์การส่งออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินไว้ไม่เติบโต ซึ่่งคาดว่า สศค.ประเมินได้ใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.7 อาจขยายตัวไม่ถึง แต่น่าจะมากกว่าร้อยละ 3 ซึ่งปีนี้เติบโตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก และการเมืองในประเทศ แต่ไทยก็ยังมีพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สถาบันการเงินของไทยยังดี เงินเฟ้อไม่สูง ว่างงานต่ำ
ทั้งนี้ จึงคาดการณ์ว่าในปีหน้าจีดีพีจะเติบโตกว่าปีนี้ แต่อาจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือคิวอีของสหรัฐฯ การฟื้นตัวของยุโรป เศรษฐกิจของญี่ปุ่น และการเมืองไทยต้องไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรง และการกู้เงินตาม พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงดอกเบี้ยต่อไปจนถึงสิ้นปี แต่ปีหน้าน่าจะเป็นช่วงขาขึ้น สำหรับการดำเนินการด้านภาษีที่เดินหน้าอยู่ในขณะนี้ คือ การเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
โดยในเบื้องต้นจะไม่ดำเนินการกับการพาณิชย์ เพราะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม แต่จะเก็บคนที่ซื้อที่เก็งกำไร หรือที่ดินรกร้าง การจัดทำ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจขนาดเล็กที่สามารถนำหลักทรัพย์ที่มีอยู่มาค้ำประกัน เช่น กิจการทรัพย์สินทางปัญญา อสังหาริมทรัพย์ วัตถุดิบ
การอนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจได้ไม่เกิน 100,000 บาท ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเก็บได้ถึงร้อยละ 36 ต่อปี โดยมีข้อแม้ให้ปล่อยแค่ในพื้นที่จังหวัดที่มีการจัดตั้งบริษัทเท่านั้น
การจัดทำรีเวิร์ดมาร์เกตให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อกู้เงินใช้หลังเกษียณอายุจากที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ การทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และการทำภาษีการประกอบธุรกิจให้เป็นสากล เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดทางภาษี