สศค. ยืนยันเดินหน้าผลักดันการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (พร็อพเพอร์ตี้แทกซ์) ยันไม่กระทบประชาชนทั่วไปที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่อาศัย จะนำร่องที่ดินรกร้างว่างเปล่า-สิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเพื่อเก็งกำไร
ในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2556 เรื่อง “นโยบายการคลังและการลงทุนภาครัฐผลต่อการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลัง (สศค.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการคลังและการลงทุนภาครัฐในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า” โดยยืนยันว่า กระทรวงการคลัง มีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี และกฎหมายการเงินการคลังของประเทศ โดยเฉพาะภาษี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเชื่อว่าจะต้องปรับปรุงกฎหมายทั้ง 2 ประเภทให้สอดคล้องกับปัจจัยเศรษฐกิจการ และการบริโภคในประเทศ เนื่องจากเป็นฐานรายได้สำคัญที่ภาครัฐจะนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาประเทศ
ขณะเดียวกัน ภาพรวมปัจจุบันฐานภาษีของไทยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ยังต่ำมาก เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่สำคัญหลังจากนี้ สศค.เตรียมเดินหน้าผลักดันการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือพร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ ซึ่งมีการผลักดันมาแล้วในรัฐบาลที่ผ่านมา และ สศค.นำกลับมาเสนอรัฐบาลปัจจุบันพิจารณาอีกครั้ง โดยนำโครงสร้างภาษีดังกล่าวเสนอ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ให้การดำเนินการขั้นแรกของภาษีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ดังนั้น สศค.จะพิจารณานำร่องจัดเก็บภาษีดังกล่าวกับที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่มีการซื้อขายเพื่อการเก็งกำไร ก็จะผลักดันให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ เบื้องต้นพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการอสังหาฯ เพื่อให้การนำภาษีดังกล่าวมาใช้สอดคล้องกับสถานการณ์ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากเกินไป
นายสมชัย กล่าวอีกว่า สศค.ยังจะผลักดันการปรับโครงสร้างกฎหมายการเงินการคลังของประเทศ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยจะปรับปรุงให้กฎหมายเหล่านี้มีความทันสมัย และเอื้อต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เร่งผลักดันภายใน 5 ปีข้างหน้า
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงการลงทุนของภาครัฐที่จะกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปี ว่า สศค.ยืนยันว่าการกู้เงินจะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และหนี้สาธารณะของประเทศใน 7 ปีข้างหน้าจะไม่สูงเกินกว่า ร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะที่ร้อยละ 50 จะมีส่วนต่างที่รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายการคลังเข้ามา หากอนาคตเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อหนี้เข้ามาลงทุน หรือแก้ไขปัญหาก็ยังจะสามารถดำเนินการได้
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อหาเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่ใช้งบประมาณแต่ละปีดำเนินการนั้น นายสมชัย กล่าวว่าเนื่องจากที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ใช้งบประมาณประจำปีมักเกิดการไม่ต่อเนื่อง ทุกโครงการลงทุนในวงเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ ยืนยันว่าจะต้องผ่านกระบวนการกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่ว่าการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติขั้นตอนสุดท้าย และการก่อหนี้เพื่อการลงทุนก็จะใช้ระเบียบการกู้เงิน และชำระคืนตามระเบียบทางราชการทุกอย่าง
ทั้งนี้ สศค.มั่นใจว่าปี 2557 การลงทุนภาครัฐผ่านโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภาคเอกชนควรผลักดันให้มีการลงทุนตามมา ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยปัจจุบันก็มีความเข้มแข็งทั้งการบริโภค และอัตราการจ้างงานของไทยก็อยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก