“จัสมินฯ” เทรดสนั่น 9.3 พันล้าน ทิ้งหุ้นจ้าละหวั่น หลังกรณีศาลฎีกายกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ จนรูดเกือบแตะ 8.00 บาท ก่อนปิดที่ระดับ 8.45 บาท ลดลง 10.11% เหตุบริษัทเร่งแจ้งงบไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนกำไรพุ่ง ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน แม้ต้องตั้งสำรองจ่ายเจ้าหนี้เพิ่ม 1.3 พันล้านบาท แต่โบรกฯ เชื่อกระทบไม่มาก
บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3/56 ว่า มีกำไรสุทธิ 754.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 3/55 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 605.82 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,245.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,489.08 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 3/56 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 2,820 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น4% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับอัตราเฉลี่ยต่อปี ซึ่งสัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นมานั้นตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นราย ในไตรมาสที่ 3 จากการขยายตัวของเทคโนโลยีที่มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวน 36 ล้านบาท จากทั้งหมด 44 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ขณะที่ไม่มีในส่วนนี้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทมียอดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ประมาณ 7 ล้านบาท และรายได้ก่อนหักภาษี (EBITDA ) อยู่ที่ 1,468 ล้านบาท ลดลง 1% เทียบระหว่างไตรมาส แต่กลับเพิ่มขึ้น 19% หากเทียบกันในระหว่างปีต่อปี โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบระหว่างไตรมาส และเพิ่มขึ้นถึง 22% ในอัตราเปรียบเทียบปีต่อปี
อย่างไรตาม จากกรณีศาลฎีกายกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางที่พิพากษาไปตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งบริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.56 ส่งผลให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อ JAS ในฐานะลูกหนี้จะกลับไปเป็นเช่นเดิมดังที่เป็นอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คือ 17 ก.ย.2545 ซึ่งเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องหนี้ได้ไม่เกิน 1,343 ล้านบาทนั้น ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทวานนี้ (31 ต.ค.) ปรับตัวลดลง โดยปิดที่ 8.45 บาท ลดลง 0.95 บาท หรือ 10.11% จากราคาปิดวันก่อน 9.40 บาท และระหว่างวันปรับตัวต่ำสุดที่ระดับ 8.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 9,387.27 ล้านบาท ขึ้นเป็นหลักทรัพย์อันดับ 1 ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดของวานนี้ (31 ต.ค.)
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า หาก JAS ต้องตั้งสำรองทั้งจำนวน จะกระทบกำไรปีนี้ 0.19 บาทต่อหุ้น หรือ 43% อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกร้องให้ชำระหนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการศาลแพ่งซึ่งต้องใช้เวลา และอาจกระทบแผนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ หรือต้นปี 2557
ทั้งนี้ คาดว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในระยะสั้น มีผลต่อมูลค่าหุ้นไม่มากนัก เนื่องจาก JAS ได้ชำระหนี้สินตามแผนฟื้นฟูจนครบแล้ว แต่อาจจะมีภาระเพิ่มเติมจากการ Hair Cut ครั้งนั้น โดยที่ปรึกษาทางกฎหมายประเมินความเสียหายไว้ไม่เกิน 1,343 ล้านบาท
นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องนี้จะทำให้หนี้สินทางการเงินต่อทุน ของ JAS เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.27 เท่า จากปัจจุบันที่ระดับ 0.14 เท่า ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำ