สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบีฯ มองปัญหา “เพดานหนี้สหรัฐ” เดินเข้าสู่วังวนที่ไม่รู้จบ แม้ตลาดจะผ่อนคลายระยะสั้น แต่แนวโน้มจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้น สะเทือนแยงกี้บอนด์เสื่อมค่า ธนาคารกลางทั่วโลกจ่อลดสัดส่วนถือครองเพื่อลดความเสี่ยง พร้อมคาด “เฟด” ยังต้องคงมาตรการ “คิวอี” เอาไว้ และมีผลทำเงินทุนไหลกลับเข้าตลาดหุ้น
นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วุฒิสภา และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เห็นชอบให้มีการผ่านงบประมาณ และเพิ่มเพดานหนี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาบริหารประเทศ โดยอนุมัติงบประมาณให้ใช้ได้ถึงวันที่ 15 มกราคม และเพิ่มเพดานหนี้ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ โอกาสที่สหรัฐฯ จะเผชิญปัญหาเพดานหนี้ หรือการปิดหน่วยงานราชการอีกครั้งมีสูงมาก เพราะสหรัฐฯ จะมีความลำบากในการปรับลดงบประมาณ เนื่องจากงบส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่รัฐให้การช่วยเหลือประชาชนตามสิทธิที่จะได้รับ ซึ่งในระยะเวลาสั้นความไม่แน่นอนในการแก้ปัญหาเพดานหนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจเลื่อนการตัดลดมูลค่าการซื้อพันธบัตร หรือ QE
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะยาว สหรัฐฯ อาจมีปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้ และการเจรจาด้านการปรับลดการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น อันจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะมีความล่าช้าในการชำระดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล และนำไปสู่ความกังวลที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย อาจลดสัดส่วนการลงทุน และการถือพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยง
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะคงมาตรการ QE ไว้จนปัญหาการคลังเริ่มคลี่คลายในช่วงต้นปี 2557 ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงต่อไป และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ คงมาตรการ QE ไทยจะได้รับผลกระทบจากเงินลงทุนที่จะไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดทุน อันจะส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในระยะสั้น และเมื่อปัญหาเพดานหนี้ได้รับการแก้ไข ผู้ลงทุนจะให้น้ำหนักต่อการถอนมาตรการ QE ที่จะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าได้ตามเงินลงทุนที่จะไหลออกตลาดเอเชียอีกครั้ง ในต้นปี 2557
อย่างไรก็ตาม ผลทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่ง คือ การส่งออก โดยการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ จะมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ซึ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP มีการปรับลดลง จะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่กำลังฟื้นตัวของสหรัฐฯ ชะลอลงได้จากความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ลดลง อันมีผลต่อการนำเข้าสินค้าบริโภคจากไทย