รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยวิกฤตสหรัฐฯ ภาคราชการหยุดงานไม่กระทบไทย เพราะเป็นเพียงระยะสั้น ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคจากเม็ดเงินใหลเข้าเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง แนะนักลงทุนรับความเสี่ยงหลังเฟดถอน QE คาดดอกเบี้ยพุ่ง
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ American Shut Down ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากนัก ซึ่งพิจารณาจากเหตุการดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และดัชนีหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวในสหรัฐฯ จะสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศที่จะชะลอมาตรการ QE ออกไปอีกอย่างน้อยจนถึงการประชุมในรอบเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์ American Shut Down อาจไม่น่ากังวลมากเท่ากับการปรับเพดานหนี้สาธารณะที่จะประกาศออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนใหลออกนอกประเทศมายังตลาดทุนภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจากการปรับเพดานหนี้สาธารณะของอเมริกาครั้งที่แล้ว ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเครดิตสหรัฐฯ ลดลง ส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศลดน้อยลง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ทั้งนี้ หากพิจารณาทุนสำรองสหรัฐฯ ที่มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท อาจจะต้องจับตาดูว่าทุนสำรองที่มีจะสามารถเสริมสภาพคล่อง และรองรับความผันผวนของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเหตุการณ์ American Shut Down ที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันนี้ในช่วงปลายปี 2538-2539 กินระยะเวลานานกว่า 26 วัน สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ขณะเดียวกัน ความกังวลต่อเหตุการณ์ American Shut Down หากคำนวนระยะเวลาถ้าเกิดขึ้นนานถึง 1 เดือน จะกระทบต่อ GDP ในประเทศเพียง 0.1% เท่านั้น แต่ในทางกลับกันจะเป็นผลสะท้อนในเชิงบวกกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สังเกตได้จากเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น และนักลงทุนมองแนวโน้มจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เฟด ไม่ถอนมาตรการณ์ QE ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งตรงกับที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้ม GDP ของประเทศไทยในปีนี้จะเติบโตในอัตราลดลงที่ 3.5%-4% เท่านั้น”
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปีหน้านักลงทุนอาจต้องมองแรงกระตุ้นการลงทุนว่าจะมาจากภาคเศรษฐกิจกลุ่มไหนที่มีความผันผวนน้อย โดยเฉพาะในการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การขยายมาตรการ QE ออกไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมามาก แต่แนวโน้มในอนาคตอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าหากเฟดถอน QE ออกจากระบบ ดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงแบบก้าวกระโดด ซึ่งภาคเอกชนอาจต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อธุรกิจ