xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงชัตดาวน์กระทบไทย ธปท.จับตาเงินไหลเข้าออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลมั่นใจไทยไม่ซ้ำรอยสหรัฐฯ เผยแม้งบปี 57 ยังไม่ผ่าน แต่ก็เบิกเงินใช้ก่อนได้ "ปู"สั่งจับตาสหรัฐฯ ชัดดาวน์ใกล้ชิด ห่วงกระทบไทย แต่เชื่อจบได้เร็วๆ นี้ "โต้ง" ห่วงปัญหาสหรัฐฯ ป่วนค่าเงิน ด้านแบงก์ชาติจับตาเงินไหลเข้าออกใกล้ชิด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงกรณีที่หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ต้องปิดทำการอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องงบประมาณปี 2557 ว่า ในส่วนของประเทศไทย ตนหวังว่าสถานการณ์และเหตุการณ์จะไม่เกิดเช่นเดียวกับของสหรัฐฯ เพราะในความเป็นจริง ไทยสามารถใช้งบประมาณไปพลางๆ ก่อนได้ ขณะนี้สำนักงบประมาณ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำงบประมาณไปใช้ได้ แต่อาจจะมีผลกระทบต่อโครงการใหม่ที่เป็นโครงการซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนของงบประมาณในปีที่ผ่านมา อาจมีส่วนทำให้เกิดการหยุดชะงัก ซึ่งก็หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีความชัดเจนออกมา รัฐบาลจะได้ถือปฏิบัติ

เมื่อถามว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างประจำใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของงานที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา ยังสามารถเบิกจ่ายได้ โดยจะใช้เป็นลักษณะของงบสำรองก่อน ยกเว้นโครงการใหม่ที่อาจจะมีปัญหา ซึ่งต้องขอดูในเนื้อหาและรายละเอียด

ต่อข้อถามว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลเชื่อมโยงมาถึงเศรษฐกิจไทย และภูมิภาคหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สหรัฐฯ จะมีทางออกภายใน 1-2 วัน แต่ไทยก็ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำกับบริหารนโยบายเศรษฐกิจครั้งที่ 19/2556 เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงต่างๆ เข้าร่วม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงผลกระทบของการหยุดการดำเนินการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งที่ประชุมรายงานว่า การหยุดงานครั้งก่อนของรัฐบาลสหรัฐฯ 3 สัปดาห์ กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะตกอยู่ภายในประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยมากนัก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสล่าสุดเพียง 0.1% เท่านั้น และคาดว่าในไม่ช้าคงจะหาทางออกได้

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจจะปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเสนอให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สถานะและความต้องการของ SMEs ล่าสุดว่าเป็นอย่างไร เพื่อแนะนำให้ปรับตัวได้ทัน ทั้งด้านการลดต้นทุน รวมถึงแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสมให้ โดยนายนิวัฒน์ธำรง เห็นด้วยว่าคณะทำงานนี้ จะต้องมีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพ วางนโยบาย รวมถึงกำหนดทิศทางให้กับ SMEs

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้รายงานสถิติการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2551 จนถึงเดือนส.ค.2556 ว่ามีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 4,057,800 ล้านบาท อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3,472,700 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริมลงทุนไปแล้ว 3,132,600 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุมัติจะออกบัตรส่งเสริมภายใน 6 เดือน แต่กว่าที่โครงการต่างๆ จะเริ่มลงทุนจริงใช้เวลาเกือบ 3 ปี เพราะต้องผ่านกระบวนการในการขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดกระบวนการดำเนินการในการออกใบอนุญาต เพื่อร่นระยะเวลาให้เหลือสั้นลงที่สุดภายใน 1 ปี และจะได้มีการเร่งลงทุนในประเทศไทยได้เร็วขึ้น

ส่วนเรื่องการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการของรัฐวิสาหกิจที่อาจกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปดูต้นทุนการบริหารงานในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ก่อนว่ามีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรงได้ขอให้แต่ละรัฐวิสาหกิจไปประเมินดูว่าถ้ามีการปรับขึ้นค่าบริการจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน เพื่อรัฐบาลจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจในการเข้าไปบริหารจัดการ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงที่ผู้มีรายได้น้อยยังมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ในการชดเชยราคาก๊าซหุงต้มน้อย จึงขอให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงานอย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจและลงทะเบียนมากขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการผันผวนของค่าเงิน ในช่วงที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกลับสู่สภาวะปกติ สัญญาณการส่งออกของไทยที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องสหรัฐฯ จะชะลอหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี และล่าสุดมีปัญหาหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วนต้องปิดชั่วคราว หลังกฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน ก็ล้วนแต่มีโอกาสนำไปสู่ความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งต้องจับตา แต่เชื่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรง ตลาดโลกไม่ได้ตื่นตระหนก โดยต้องดูว่าสหรัฐฯ จะสรุปเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาสั้นหรือไม่ หากแก้ได้ในระยะสั้นก็จะไม่มีผลกระทบ

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากสหรัฐฯ มีไม่มากนัก เพราะปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจต้องใช้เวลา แต่ประเด็นนี้น่าเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยขณะนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังปกติ ซึ่งสะท้อนได้จากการเคลื่อนไหวเงินบาทยังนิ่งในขณะนี้ แต่ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนไหลเข้าออก

“การชัดดาวน์ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นบ่อยๆ หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 38-39 หรือแม้กระทั่งสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ก็เคยมีเหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ หยุดงาน 21 วัน แต่เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะต้องมีการติดตามเป็นรายวัน ซึ่งก็ต้องรอดูอีก 1-2 วัน คาดว่าทางการสหรัฐฯ จะมีการหารือกันและน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น”

สำหรับประเด็นที่จะมีการประชุมเรื่องเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ การเมืองสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่เชื่อว่าจะมีความพยายามหาข้อตกลงได้ ซึ่งในอดีตก็สามารถตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย จึงคาดว่าจะไม่กระทบการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ในอนาคต

ส่วนที่กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาระบุว่า ได้ประเมินว่าหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้น มองว่าไม่น่าจะกระทบตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ธปท.ประเมินไว้ เพราะมองว่าน่าจะเป็นปัจจัยแค่ระยะสั้นๆ โดยรายงานแนวโน้มนโยบายการเงินเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวประมาณ 1.7% และปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 2.5% ซึ่งข้อสมมติฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากรายงานแนวโน้มนโยบายการเงินฉบับก่อนเดือนเม.ย. โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะภาคที่อยู่อาศัยและการจ้างงาน แต่ยังคงถูกถ่วงด้วยมาตรการรัดเข็มขัดภาคการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น