ไนท์ แฟรงค์ฯ เผยยอดการซื้อขายคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้าโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 52-กลางปี 56 ขายไปได้แล้ว 4 หมื่นหน่วย จาก 5.4 หมื่น สายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยาย ตากสิน-บางหว้า ขายดีสุดส่วน บางซื่อ-บางใหญ่ หืดจับสินค้าทะลักแม้ยอดขายดีแต่ต้องแข่งขันสูง
นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์ แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยถึงตลาดคอนโดมิเนียม ว่า ความต้องการคอนโดมิเนียมรายล้อมแนวเส้นทางรถไฟฟ้ายังคงเติบโตต่อเนื่อง นับจากปี 2552 ถึง กลางปี พ.ศ.2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 54,630 หน่วย มียอดขายไปแล้วจำนวนกว่า 40,006 หน่วย เหลือขายเพียง 16,424 หน่วย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่รายล้อมเส้นทางรถไฟฟ้า 4 สาย คือ บี ที เอส สายสีเขียวอ่อน อ่อนนุช-แบริ่ง จำนวน 16,429 หน่วย คิดเป็น 30%, บี ที เอส สายสีเขียวเข้ม สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ จำนวน 9,866 หน่วย คิดเป็น18%, เอ็ม อาร์ ที สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ จำนวน 2,917 หน่วย คิดเป็น 5% และเอ็ม อาร์ ที สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 25,418 หน่วย คิดเป็น 47%
สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าที่คอนโดฯ ขายดีที่สุด คือ สายสีเขียวเข้ม โดยส่วนต่อขยายสีเขียวเข้ม ช่วงสะพานตากสิน ถึงวงเวียนใหญ่ มีจำหน่ายทั้งสิ้น 4,163 หน่วย ขายไปได้ 3,477 หน่วย เหลือเพียง 686 หน่วย อัตราการขายอยู่ที่ 83.5% โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 120,196 บาทต่อตารางเมตร ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้มช่วง วงเวียนใหญ่ ถึงตลาดพลู มีจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 2,508 หน่วย ขายไป 1,599 หน่วย เหลือเพียง 909 หน่วย ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 82,543 บาทต่อตารางเมตร และส่วนต่อขยายสีเขียวเข้ม ช่วงตลาดพลู ถึงบางหว้า มีจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 3,195 หน่วย ขายไปได้ 2,752 หน่วย เหลือเพียง 443 หน่วย ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 63,457 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งตัวเลขการเติบโตของคอนโดฯ สูงขึ้นทุกปีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่สายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ มีจำนวนหน่วยคอนโฯ เกิดขึ้นมากที่สุด 25,418 ยูนิต ปัจจุบันขายไปแล้ว 18,503 ยูนิต เหลือขาย 6,915 ยูนิต แม้ว่าจะมีจำนวนซัปพลายเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก แต่อัตราการขายก็มากตามถึง 72.8% ทำให้ผู้ประกอบการกล้าพอที่จะลงทุน แต่การทำตลาดก็ยากขึ้นต้องมีโปรโมชันเพื่อดึงดูดความสนใจขอลูกค้า
นายพนม กล่าวต่อว่า นอกจากยอดขายคอนโดมิเนียมจะเติบโตแล้ว ได้มีการทำวิจัยถึงสภาวะตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2011 กลุ่มที่มีความต้องการปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดคือ กลุ่มอาคารสำนักงานเกรดเอ โดยล่าสุด อัตราการเช่าสำนักงานในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 88.02% จากพื้นที่ทั้งหมดในปัจจุบันของสำนักงานออฟฟิศที่มีอยู่ หรือปริมาณพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ รวมอยู่ที่ 4,628,564 ตารางเมตร และในปี 2557 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 200,529 ตารางเมตร โดยไม่รวมอาคารที่มีหลายเจ้าของ และอาคารสำนักงานที่มีขนาดเล็กกว่า 5,000 เมตร
“มองในอนาคตผู้เช่าควรเตรียมพร้อมรับค่าเช่าที่จะยังคงถีบตัวสูงขึ้นในย่านซีบีดีเนื่องจากอัตราการเช่าที่สูง และความต้องการที่แข็งแกร่งของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพื้นที่เกรดเอซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดการเช่าที่สำคัญตลอดปีนี้”
ทั้งนี้ อาคารใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีในทำเลธุรกิจใหม่ๆอย่างเช่น รัชดาภิเษกอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เช่า เนื่องจากอัตราค่าเช่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อาคารมีคุณภาพ สามารถเดินทางเชื่อมโยงกับทางด่วน และแนวบริการขนส่งมวลชนต่างๆ ตลอดจนห้างร้านค้าปลีก ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้เช่าบางรายเริ่มมองว่าการอยู่ในย่านธุรกิจกลางเมืองมีประโยชน์สำหรับธุรกิจของตนจริงหรือไม่ในที่สุด
ด้าน ดร.ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ กล่าวว่า จากการเปิดตัวของ AEC เชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯ กลุ่มสำนักงานออฟฟิศ คอนโดฯ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคค่อนข้างมากเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจากแหล่งงานต่างๆ ความต้องการที่อยู่อาศัยชั่วคราว ประเภท Service Apartment หรือประเภท Condo ปล่อยเช่า ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามมา ในส่วนของภาคธุรกิจความต้องการด้านพื้นที่สำนักงานเพิ่มสูงขึ้น และพื้นที่ Retail ให้บริการเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายราคาที่ดินก็จะเพิ่มสูงขึ้น
“นอกจากการเปิด AEC ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาเติบโตคึกคักแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพมหานครที่สูงขึ้น คือ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ, สนามบิน, ศูนย์กลางธุรกิจ และแนวโน้มรายได้ประชากรที่สูงขึ้นจากการลงทุนในไทยมากขึ้น” ดร.ดลพิวัฒน์กล่าว