ไนท์แฟรงค์ฯ เผยตลาดคอนโดฯ ชานเมืองตัวขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดคอนโดฯ กรุงเทพฯ ครึ่งแรกของปี 56 พบซัปพลายคอนโดฯ ใหม่ใกล้รถไฟฟ้า ย่านชานเมืองกว่า 9,123ยูนิต หรือมีแชร์คอนโดฯ ตลาดรวม กทม.กว่า 46% แจงระบบรถไฟฟ้าปัจจัยหนุนคอนโดฯ เกิดใหม่ย่านชานเมือง ระบุสายอ่อนนุช-แบร์ริ่ง สายบางซื่อ-บางใหญ่ ทำเลใหม่ผู้ประกอบการอสังหาฯ แห่เปิดตัวคอนโดฯ เพียบ เชื่ออนาคตทำเลหลักของตลาดคอนโดฯ
น.ส.ริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คอนโดมิเนียมชานเมืองถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานคร โดยในปัจจุบัน คอนโดฯ ย่านชานเมืองทั้งที่อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า และชุมชนขนาดใหญ่มีจำนวน 22,465 ยูนิต คิดเป็น 70% ของโครงการเปิดตัวใหม่ในปีนี้
จากการสำรวจตลาดคอนโดมิเนียมของ ไนท์แฟรงค์ฯ พบว่า ซัปพลายคอนโดกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มียูนิตใหม่เข้าสู่ตลาด 32,244 ยูนิต หรือคิดเป็นการเติบโต 12% จากสิ้นปี 55 โดยคอนโดฯ ใหม่ส่วนมากอยู่ในพื้นที่ชานเมือง ส่วนคอนโดมิเนียมในย่านรอบนอกของตัวเมือง และย่านธุรกิจใจกลางเมืองคิดเป็น 25% และ 5% ของโครงการเปิดใหม่ ตามลำดับ
ทั้งนี้ การเติบโตของคอนโดฯ ชานเมืองได้รับอานิสงส์จากการขยายเครือข่ายขนส่งมวลชน โดยเฉพาะเส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกตามแนวถนนสุขุมวิทตอนนอก และจากกรุงธนบุรีไปบางหว้า ซึ่งครอบคลุมทางใต้ของเมืองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงเขตธนบุรี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่ จำนวน 13 โครงการ รวม 5,486 ยูนิต เปิดตัวใกล้กับเส้นทางรถไฟเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโซนตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ จากบางซื่อ-บางใหญ่ ส่วนบริเวณใกล้กับบีทีเอสส่วนขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่งนั้น มีโครงการขึ้นใหม่ 12 โครงการ รวม 3,136 ยูนิต เมื่อนับจำนวนยูนิตใกล้เส้นทางขนส่งมวลชนส่วนขยายพบว่า มียูนิตเปิดใหม่ 9,123 ยูนิต หรือ 46% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ.2013
น.ส.ริษิณี กล่าวว่า คอนโดฯ ใหม่ใกล้เส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้า มีดีมานด์มากที่สุด หรือประมาณ 51% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว มีบริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายรายเข้าสู่ตลาดในเซกเมนต์นี้ เนื่องจากเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาคอนโดฯ จากการที่มีเส้นทางขนส่งมวลชนทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ทีซึ่งสามารถให้บริการประชาชนที่พักอาศัยในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี
“ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทตอนนอก จากอ่อนนุชไปสมุทรปราการ ได้กลายเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน คอนโดมิเนียมในย่านนี้มีอัตราการขายที่ดี มียอดขายเกือบ 49.68% อยู่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ การเติบโตตรงจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณที่ดินที่ยังมีเหลืออยู่ และมีราคาไม่สูงเหมือนกับย่านถนนสุขุมวิทตอนใน ประกอบกับการที่ในปัจจุบันมีอุปทานในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เราเชื่อว่าจะต้องมีการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอนในอนาคต”
ทั้งนี้ ตัวเลขจากฝ่ายวิจัย ไนท์แฟรงค์ฯ ชี้ให้เห็นว่า อัตราการซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานคร โดยรวมอยู่ในระดับที่ดี ยูนิตที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีอัตราการซื้อประมาณ 56.55% หรือขายได้แล้ว 18,234 ยูนิต สำหรับในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานครนั้น อัตราการซื้อก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 52.81% หรือขายได้แล้ว 11,864 ยูนิต
โดยดีมานด์ของคอนโดในย่านชานเมืองจะอยู่ในเซกเมนต์ระดับกลาง และระดับล่าง มีกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายคือ กลุ่มที่เดิมใช้วิธีเช่าอพาร์ตเมนต์พักอาศัย แต่ในปัจจุบัน ต้องการเป็นเจ้าของยูนิตในคอนโดมิเนียม และผ่อนค่างวดในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินที่เดิมจ่ายเป็นค่าเช่า ห้องจึงมีขนาดเล็ก แต่ผู้ซื้อก็ได้ประโยชน์จากการที่ได้อยู่ใกล้กับเส้นทางของบีทีเอส หรือเอ็มอาร์ที ซึ่งคอนโดฯ ในย่านชานเมืองที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงสุดคือ โครงการตามเส้นทางบีทีเอส ส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้า ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว มีราคาอยู่ที่ราว 106,083-109,111 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)
“คาดว่าซัปพลายของคอนโดฯ ย่านชานเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงส่วนขยายในเขตธนบุรี ซึ่งบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อตอบรับดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ซื้อที่พักอาศัยเป็นครั้งแรกซึ่งต้องการคอนโดฯ ที่สามารถทำให้ตนเดินทางเข้าเมืองได้โดยสะดวกโดยการใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การซื้อยูนิตในโครงการใกล้รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัจจุบัน ยังมีจำนวนยูนิตเหลืออีกมาก ด้วยเหตุนี้เองผู้พัฒนาต่างๆ จึงควรระมัดระวังว่าอาจเกิดสภาวะโอเวอร์ซัปพลายในอนาคตได้