xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพากร-คลัง” ปัดไอเดียเก็บภาษีคนโสด “ชาวโซเชียล” แห่ตั้งกระทู้สวดกันสนั่นเว็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” ยันไม่เคยมีแนวคิดเก็บภาษีคนโสด หรือลดหย่อนให้ครอบครัวที่มีบุตร 2-3 คน ย้ำชัดหลักในการจัดเก็บฯ จะพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก “เบญจา” แนะถ้าจะทำจริงต้องศึกษาให้ละเอียด ขณะที่แนวคิดนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกไซเบอร์ “ชาวโซเชียล” แห่ตั้งกระทู้สวดกันสนั่นเว็บ

นางจิตรมณี สุวรรณพูล โฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีนักวิชาการเสนอแนวคิดให้จัดเก็บภาษีสำหรับคนโสด เพื่อเร่งรัดให้แต่งงาน และมีบุตร เนื่องจากโครงสร้างประชากรในอนาคตเริ่มเข้ายุคคนชรามากขึ้นนั้น แนวคิดการจัดเก็บภาษีเงินได้ของกรมสรรพากร ยึดหลักเรื่องความเท่าเทียม และจัดเก็บบนพื้นฐานเงินได้ของแต่ละบุคคล โดยไม่ได้มุ่งเน้นกลุ่มบุคคลจะมีสถานะใด หากมีเงินได้ต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนโสด หรือมีคู่สมรส

สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละครั้ง กรมสรรพากรจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย รวมถึงใช้เครื่องมือในการกระจายรายได้ หากผู้มีเงินได้สูงต้องเสียภาษีสูงในอัตราก้าวหน้า แต่ไม่เคยมีการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเพิ่มประชากร หรือการลดภาระทางสังคม เพราะคงไม่ใช่หน้าที่หลักของระบบภาษีเป็นเครื่องของรัฐทางด้านเศรษฐกิจในการหารายได้ให้รัฐ และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า

“ข้อเสนอดังกล่าวขึ้นกับการเลือกของรัฐบาลว่า จะพิจารณานำมาศึกษาให้ชัดเจน ปัจจุบันมีจำนวนผู้เสียภาษี 10 ล้านคน โดยต้องดูว่าจำแนกเป็นคนโสด หรือสมรสได้หรือไม่ และมองว่าการตัดสินใจมีบุตร หรือเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ปัจจัยด้านภาษีคงไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อยู่ที่ความสามารถในการเลี้ยงดูมากกว่า ขณะที่คนโสดหากมีเงินได้ และมีการวางแผนดีสามารถหาเลี้ยงตัวเอง มีเงินสะสมเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายยามชราก็จะไม่เป็นภาระแก่สังคม”

เกี่ยวกับแนวคิดการจัดเก็บภาษีคนโสดนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจะมีใครเคยรู้หรือไม่ว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเคยมีการเก็บ “ภาษีชายโสด” มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ.2487 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2487 โดนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้นำมาลงในเฟซบุ๊กว่า ภาษีชายโสดมีลักษณะเป็นภาษีที่จัดเก็บเสริมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กล่าวคือ ชายโสดผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีชายโสด 5 บาท หรือในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจะมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลังกฎหมายนี้ใช้ได้เพียงปีเศษ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกตั้งแต่ 9 มกราคม 2488

**ต้นเหตุประเด็นร้อนที่ ม.รังสิต จุดกระแส ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

สำหรับที่มาแนวคิดจัดเก็บภาษีคนโสด เป็นข้อเสนอจาก นายเทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ เลขานุการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จากเวทีอภิปราย “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการรองรับในสองทศวรรษหน้า” โดยวิเคราะห์ว่า ไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โครงสร้างประชากรไม่สมดุล และต้องเสียงบประมาณดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ขณะที่ประชากรในวัยรุ่นวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มต่ำลง และอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยต่ำมาก 1 คู่สมรส มีลูกเพียง 1 คน ทั้งที่จริงต้องมีลูกขั้นต่ำ 2-3 คน ถึงจะเพียงพอต่อการทดแทนประชากรเดิมที่ตายไป

นายเทอดศักดิ์ ระบุว่า สาเหตุที่คนไทยมีลูกน้อยมาจากแนวโน้มสังคมเมือง และเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีหนุ่มสาวจะเลือกทำงานเพื่อสร้างฐานะ ความมั่นคงในชีวิตมากกว่าการหาคู่แต่งงานสร้างครอบครัว ประกอบกับปัจจุบันค่าครองชีพ และต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตรสูงขึ้น ทั้งค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล สินค้าข้าวของแพงขึ้น ครอบครัวส่วนใหญ่จึงเลือกมีลูกน้อย เพราะกลัวจะดูแลได้ไม่ดี ต่างจากอดีตในสังคมเกษตร ที่คนไทยมีลูกมาก เพราะต้นทุนการเลี้ยงดูไม่สูง

นายเทอดศักดิ์ แนะนำว่า ภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลูกคนแรก โดยรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูให้แก่ครอบครัวที่มีลูกคนแรก รวมถึงให้เงินอุดหนุน หรือลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่ 2 และ 3 นอกจากนี้ ควรเรียกเก็บภาษีคนโสด ภาษีคนไม่มีลูก กระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคต

ทั้งนี้ หลังจากเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่ง เช่น กระปุก เอ็มไทย และสนุก ได้เผยแพร่ข่าวนี้ออกไป ส่งผลให้ประด็นภาษีคนโสดกลายเป็นกระแส ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ปลุกมวลชนคนโสดไซเบอร์แห่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือดเผ็ดมัน โดยมีการตั้งคำถามว่า ไม่เข้าใจทำไมต้องก๊อบปี้นโยบายจากประเทศอื่นมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เหมาะสมกับโครงสร้างสังคมไทย

นอกจากนี้ ชาวไซเบอร์ยังเห็นว่า การเก็บภาษีคนโสด และส่งเสริมให้มีลูก หากคนอยากได้เงินจากรัฐ แล้วแห่กันมีลูก เด็กที่เกิดมาไม่มีคุณภาพ ไม่ยิ่งเป็นภาระทางสังคมเหรอ..ไปแก้ปัญหาตรงอื่นดีกว่า อย่ามัวไปนั่งก๊อบปี้นโยบายรัฐประเทศอื่น เพื่อให้มีผลงานทางวิชาการเลย และยังมีข้อความที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ...

- เพราะค่าครองชีพมันสูง เขาถึงไม่อยากมีลูกมาก อยากให้มีลูกอย่างน้อยครอบครัวละ 2-3 คน ก็เพิ่มเงินเดือนให้มากกว่านี้สิ แล้วมีลูกมากมันลดภาระงบประมาณยังไงมิทราบ

- คนโสดไม่มีภาระลูกเมียผัว เเต่ก็เลี้ยงดูพ่อเเม่ ช่วยรัฐเรื่องดูเเลคนชรา เเละอาจมีภาระเรื่องญาติเรื่องหลาน ฯลฯ ขณะที่คนมีครอบครัวบางคนไม่ได้เลี้ยงลูก บ้างลูกโตทำงานเเล้ว ที่ต้องเเก้คือ ปัญหานักการเมืองโกงเงินภาษีรายได้ประชาชน ต้องลดสวัสดิการ ลดเงินเดือนนักการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนเกี่ยวกับการเก็บภาษีคนโสดอีกด้วย โดยเฉพาะภาพจากเพจ “Jaytherabbit” เป็นภาพวาดลายเส้นรูปกระต่าย ระบุข้อความ “ต้องรีบมีผัวเพราะกลัวภาษี” ?!!

ส่วนคนโสดจากสังคมทวิตเตอร์ แสดงความคิดเห็นดุเดือดไม่แพ้กัน เช่น ภาษีคนโสด เคยคิดมั้ยครับว่าที่เขาเป็นโสด เพราะรายได้เขายังไม่พร้อมจะมีคู่จะมีลูก ลดค่าครองชีพให้พวกเราพอแ_ก ให้ได้ก่อนมั้ย, @Patanawadee มองว่า ทุกวันนี้คนโสดไม่สามารถหักค่าลดหย่อนใดๆ ทั้งที่รายจ่ายเพียบอยู่แล้ว

ด้านเว็บพันทิป ก็พบว่า มีผู้เข้ามาตั้งกระทู้เกี่ยวกับการเก็บภาษีคนโสดจำนวนมากเช่นกัน เช่น “แนะรัฐเก็บภาษีคนโสด ดันปั๊มลูกแก้แรงงานขาด” หรือข้อความว่า “ซ้ำเติมคนโสด นักวิชาการหนุนให้เพิ่มการเก็บภาษีคนโสดนะจ๊ะ” และ “นักวิชาการหนุนนโยบาย ลูกคนแรก - เก็บภาษีคนโสด คุณคิดว่าอย่างไรครับ”

**คลัง ปัดไม่มีแนวคิด แต่ถ้าทำต้องศึกษาละเอียด

ขณะที่ นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.การคลัง ยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในการจัดเก็บภาษีคนโสด หรือภาษีคนที่ไม่มีลูกในการกระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณการใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคต พร้อมย้ำว่า ไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้ และถ้าดำเนินการจริงจะต้องมีการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรในช่วง 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทยว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร หากเทียบกับโครงสร้างในปัจจุบัน และต้องดูถึงผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ คงไม่เกี่ยวกับว่าใครโสด หรือไม่โสด แต่ตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติ คนไหนมีรายได้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีคนโสดจริงก็ต้องศึกษาว่าโครงสร้างประชากรในปัจจุบันมีความผิดเพี้ยนมากน้อยแค่ไหน และจะต้องมีมาตรการรองรับอย่างไรบ้าง ส่วนการจัดเก็บรายได้เชื่อว่ายังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น