ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ 80% เอสเอ็มอียังสู้ค่าแรง 300 บาทไหว แต่ยอมรับสุดร่อแร่ เผย 6 เดือนแรก เข้าข่ายต้องปิดกิจการแล้วกว่า 3 แสนราย ธุรกิจรายย่อย-รายเล็ก เจอหนักสุดเหตุสายป่านสั้น แนะรัฐฯ ออกนโยบายช่วยเหลือเป็นรูปธรรม เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน เสริมสภาพคล่อง หวั่นครึ่งปีหลัง SMEs ทยอยปิดตัวอีกหลายหมื่นราย
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลกระทบเรื่องค่าแรง 300 บาท กับภาคธุรกิจ SMEs ว่า กรณีค่าแรง 300 บาทที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในวงกว้างนั้นมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบอย่างจริงจัง ทำให้ล่าสุดจากผลการวิจัยเรื่อง “6 เดือนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท SMEs ยังสู้ไหว?” พบว่าประมาณ 79.5% สามารถรับมือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้ แต่กว่าครึ่งระบุว่า กิจการได้รับผลกระทบจนผลประกอบการไม่ดีเหมือนเดิม ขณะที่ธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก มีสัดส่วนของกิจการที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากกว่าธุรกิจขนาดกลางถึงประมาณ 2 เท่า ส่วนยอดการปิดกิจการในปี 2556น่าจะมีประมาณ 50,000 – 70,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคการผลิต ที่ต้องอาศัยแรงงานฝีมือจำนวนมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม และรองลงมาคือภาคบริการ
“จากผลการวิจัยดังกล่าวจะเห็นว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามี SMEs ที่เข้าข่ายต้องปิดกิจการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ 325,000 ราย ซึ่งข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่า ในปี 2554 มีเอสเอ็มอีปิดกิจการทั้งสิ้น 289,000 ราย ซึ่งหากใช้ตัวเลขนี้มาเป็นฐานในการประมาณค่ายอดปิดกิจการที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนี้ น่าจะมีประมาณ 50,000 – 70,000 ราย ที่เป็นธุรกิจขนาดย่อยและรายเล็ก” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มแนวทางการปรับตัวที่ผู้ประกอบการเลือกใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 57.4% ลดการลงทุนระยะยาว 48.6% ปรับขึ้นราคาสินค้า 45.4% ผลต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นที่มิใช่แรงงาน 44.0% เพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน และอีก 35.2% นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น ขณะที่อีก 17.1% ระบุว่าไม่สามารถทำอะไรได้ และอีก 12.5% ได้เลิกกิจการไปแล้ว
นอกจากนี้ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังได้ศึกษาผลกระทบและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 34 ท่าน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และสงขลา พบว่า ค่าครองชีพโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีการปรับขึ้นค่าเช่าบ้าน และค่าบริการต่างๆ จนทำให้อำนาจซื้อจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของแรงงานค่อยๆ ลดลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
“แม้ว่า 80% ของเอสเอ็มอี จะสามารถผ่านมรสุมค่าแรง 300 บาทมาได้ แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นทำให้เอสเอ็มอีจำนวน 2 ใน 3 อ่อนแอลงกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีมาถึงขีดจำกัดในการปรับตัวแล้ว ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลัง รัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดี เพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจมีความนิ่งพอที่เอสเอ็มอีจะฟื้นตัวได้เต็มที่ นั้นคือการเอาจริงกับการปัญหาค่าครองชีพ การควบคุมหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงไปกว่านี้ พยายามหารายได้จากต่างประเทศมากพอที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ เพราะหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าอาจมีเอสเอ็มอีต้องปิดตัวอีกหลายหมื่นราย” ผอ.ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *