xs
xsm
sm
md
lg

73 ร.ร.โชว์นวัตกรรมเพิ่มความรู้เด็กรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
สสค.และ สสส.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมโชว์นวัตกรรมการสร้างสรรค์การเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย หวังเตรียมพร้อมให้เยาวชนไทยมีความรู้รับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการพัฒนานวัตกรรมการสร้างสรรค์การเรียนรู้ ในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย” รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวระหว่างเปิดงานตอนหนึ่งว่า บทเรียนสำคัญจากน้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย คือ ทำอย่างไรจะต่อยอดจากสิ่งที่เป็นลบ เพื่อเสริมให้เป็นประโยชน์ได้ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราเก่งขึ้นในการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นศูนย์หลบภัยให้ชุมชนได้อยู่รอด สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนนั้นได้รับผลกระทบร่วมกัน แต่ใครจะเปลี่ยนผู้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยน เช่นกันภัยพิบัติที่เกิดนั้นไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่จะทำอย่างไรใช้ปัญญา วิทยาศาสตร์ และประสบการณ์ทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า ปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับการเตรียมพร้อมที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เยาวชนไทยจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ โดยโรงเรียนทั้ง 73 โรงเรียน ที่ สสค.และ สสส.คัดเลือกมาจากโรงเรียนที่มีการเสนอโครงการเข้ามากว่า 150 โรงเรียน ซึ่งทาง สสค.และ สสส.ซึ่งทั้ง 73 โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้การสนับสนุนนั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีศักยภาพจัดการเรียนการสอนให้ตามความต้องการของชุมชนท้องถิ่นได้ เช่น โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรีที่มีหลักสูตร “การเรียนรู้แพลอยน้ำ” ที่ทำให้สามารถช่วยเหลือชุมชนรอบข้างได้จากหลักสูตรดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าโรงเรียนพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนได้ และเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูกับนักเรียนได้ร่วมกันคิด และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกับความต้องการของท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง
 
ด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยคณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีนวัตกรรมที่มาเสนอต่อสสค.เยอะ เพราะในปัจจุบันเด็กไทยขาดแนวคิดใหม่ๆ ในการคิดเรื่องต่างๆ การศึกษาในประเทศไทยจึงควรสอนให้เด็กรู้จักคิด และเมื่อคิดได้แล้วก็สนับสนุนให้มีการพัฒนาความคิดต่างๆ มาเป็นผลงาน 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเด็กควรได้เรียนรู้จากชีวิตจริง จากสิ่งแวดล้อม และจากสิ่งที่พบเห็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนรู้อยู่แต่ในชั้นเรียน และในหนังสือ ควรจะเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่เด็กๆควรจะพบสิ่งต่างๆ และได้เรียนรู้เองโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีครูผู้สอนเป็นคอยแนะนำ

ด้าน นางสาวศรีปะภา ระดมยศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันตะลุง กล่าวว่า นวัตกรรมของโรงเรียนบ้านสันตะลุงเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับน้ำท่วมทั้งหมดขึ้นมาเพื่อที่จะให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ และได้ออกไปให้ความรู้กับชุมชนต่างๆ บริเวณโรงเรียน โดยโครงการนี้เริ่มจากการที่ตนเขียนโครงการ จากนั้นจึงจัดหาวิทยากรที่มีความรู้มาอบรมครูและเด็กนักเรียน ซึ่งเด็กนักเรียนที่นำมาอบรมนั้นจะเป็นเพียงเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้ไปสอนรุ่นน้องได้ สุดท้ายจึงจัดทำคู่มือ เพื่อให้ทุกๆ คนเข้าใจถึงบทเรียนและทิศทางของโครงการไปในทางเดียวกัน
 

นางสาวศรีปะภา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากจัดกิจกรรมจะมีการพูดคุยกับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการถอดบทเรียนในเบื้องต้นจากนั้นจะมีการถอดบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมถอดบทเรียนด้วย ซึ่งการถอดบทเรียนนั้น จะให้ทุกคนพูดถึงข้อดีและข้อเสียของกิจกรรมเพื่อที่จะพัฒนาขึ้นไปอีก
 
ขณะที่นายชัยสิทธิ์ สมานรักษ์ ครูชำนานการพิเศษบ้านวังไทร พูดถึงวิธีการถอดบทเรียนของโครงการบ้านดิน ว่า โครงการบ้านดินของตนจะเป็นนวัตกรรมที่สร้างให้เป็นความรู้คู่ชุมชน ดังนั้นการถอดบทเรียนของโครงการบ้านดินจึงเป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้เป็นความรู้แก่คนในชุมชน คือ หลักสูตรการเยี่ยมชม หลักสูตรอบรมนักเรียน และหลักสูตรอบรมผู้ปกครอง สุดท้ายบทเรียนที่ถอดออกมาได้นั้นจะออกมาในรูปแบบเอกสารประกอบการเรียนรู้และแบบวิดีทัศน์ ซึ่งจะใช้ในการเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น