xs
xsm
sm
md
lg

โพลธุรกิจบัณฑิตย์หวั่น SMEs สู้ค่าแรง 300 บ.ไม่ไหว วอนรัฐฯ เร่งดูแลต้นทุนผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลการศึกษาค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง พบสมุทรสาครกระทบหนักสุด ส่วนจังหวัดอื่นยอมรับต้นทุนการผลิตควบคุมยาก หันขึ้นราคาสินค้าแทน ชี้หวั่นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจโลกกระหน่ำซ้ำ เกรงผลกระทบธุรกิจจะรุนแรงขึ้น คาดเอสเอ็มอียื้อได้เพียง 12 เดือน วอนรัฐฯ ช่วยดูแลราคาพลังงานและต้นทุนการผลิต

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาเรื่อง “100 วัน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่องยังสู้ไหว?” ว่า จากการติดตามผลกระทบและการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 683 รายใน 7 จังหวัดนำร่อง พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.5 ได้รับผลกระทบ มีเพียงร้อยละ 12.5 ไม่ได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 73.2 ระบุว่าสามารถรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 100 วันที่ผ่านมาได้ อีกร้อยละ 14.3 หรือประมาณ 80,000-100,000 ราย จากจำนวนเอสเอ็มอี 800,000 รายใน 7 จังหวัดนำร่องไม่สามารถรับมือได้และกำลังประสบปัญหาด้านทุนการผลิต โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคการผลิต โดยร้อยละ 28.7 ระบุว่าได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการทำธุรกิจนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยต้นทุนใน 7 จังหวัดนำร่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 โดยสมุทรสาครเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ 20.8 กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 ปทุมธานีร้อยละ 16.4 สมุทรปราการร้อยละ 16.2 นครปฐมร้อยละ 15.8 ภูเก็ตร้อยละ 15.2 และนนทบุรีร้อยละ 14.4 โดยแยกจำแนกโครงสร้างของต้นทุน พบว่ามาจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานร้อยละ 2 และต้นทุนด้านวัตถุดิบและอื่นๆ อีกร้อยละ 7.3 โดย จ.สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากนโยบายค่าแรง 300 บาท ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.5-9.4

ทั้งนี้ แนวทางการปรับตัวของเอสเอ็มอี ร้อยละ 47.8 ปรับขึ้นราคาสินค้า ร้อยละ 36 ลดขนาดของธุรกิจ พนักงาน และการผลิต ร้อยละ 26 ลดสวัสดิการพนักงาน และร้อยละ 19 จ่ายงานแบบเหมาช่วงให้บุคคลภายนอก ซึ่งแม้ผลการศึกษาระบุว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่รับมือผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทได้ แต่ยังมีความเสี่ยงทั้งปัจจัยทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาค่าครองชีพ และนโยบายขึ้นค่าแรงงาน 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 ทำให้เอสเอ็มอียิ่งเปราะบาง ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งหามาตรการมาช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เอสเอ็มอี 130,000 รายอาจจะต้องปิดกิจการ หรือเลือกไปทำธุรกิจนอกระบบในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าหากมีปัจจัยเสี่ยงรุนแรงมากระทบ

“12 เดือนข้างหน้าเป็นช่วงอันตรายของเอสเอ็มอี หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ดูแลต้นทุนและราคาพลังงาน เอสเอ็มอีอาจจะต้องปิดกิจการเหมือนใบไม้ร่วงได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องคุยผู้ประกอบการเป็นรายอุตสาหกรรมว่าต้องการอะไร เพื่อให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ขณะที่อำนาจซื้อของผู้ใช้แรงงานหลังได้รับค่าแรง 300 บาท พบว่าลดลงไปจาก 300 บาท เหลือ 290 บาท เนื่องจากราคาอาหาร และพลังงานปรับสูงขึ้นทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น” นายเกียรติอนันต์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น