xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ศักยภาพการแข่งขัน SMEs ไทยจมบ๊วยอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจของ SME ในภาคการผลิตของ 5 ชาติในภูมิภาคอาเซียน ระบุ SMEs เวียดนามขึ้นแท่นเบอร์ 1 ส่วนไทยเจอพิษค่าแรงเพิ่ม คุณภาพแรงงานต่ำ ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ฉุดอันดับจมบ๊วย

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ SME ในอาเซียน” โดยใช้ข้อมูลการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารโลกระหว่างปี 2549 ถึงปี 2552 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็น SME ภาคการผลิตจำนวน 3,161 รายจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือก SME ภาคการผลิตมาเป็นตัวชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขัน เป็นเพราะ SME ส่วนใหญ่ทำธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขันสูง สินค้าที่ผลิตออกมาก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ดังนั้น เงื่อนไขพื้นฐานของความอยู่รอดจึงเป็นเรื่องประสิทธิภาพการผลิต

“จากข้อมูลในปี 2552 พบว่า SME ของประเทศมาเลเซียมีความสามารถด้านการแข่งขันสูงเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ แต่หลังจากที่ไทยมีนโยบายค่าแรง 300 บาทขึ้นมาก็กระทบต่อต้นทุนการผลิต สภาพคล่องมีปัญหา มีประสิทธิภาพน้อยลง บางรายเลิกจ้างแล้วหันมาใช้เครื่องจักรในการผลิตแทน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยลดลง” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว

ดร. เกียรติอนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลวิจัยเมื่อนำเรื่องผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทมารวมส่งผลให้ SME เวียดนามมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันสูงสุด ตามด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ โดยวิเคราะห์ถึงสาเหตุนี้ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของไทยเป็นรองประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลพัฒนาความสามารถแรงงานน้อยไป ซึ่งปัจจุบันนี้ควรพัฒนาคุณภาพแรงงาน มีเครื่องมือตรวจวัดและประเมินผลการทำงาน เพื่อยกระดับและเพิ่มความสามารถการแข่งขันโดยรวมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น