xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฐวุฒิ” ขึ้นวอ “เสนาบดี” ฤาแค่มือปราบม็อบเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในวันที่ปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดง
รายงาน..ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

พลัน “ครม.ปูจ๋า” ประกาศชื่อ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ขึ้นเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลายเป็นดับเบิ้ล 2 คำครหาให้กับนายณัฐวุฒิไปโดยปริยาย เพราะแม้จะเบียด “นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ” ตกเก้าอี้ และเข้าทำงานร่วมกับ “นายธีระ วงศ์สมุทร” ที่ยังคงยึดมั่นเก้าอี้จากกรณีความผิดพลาดบริหารจัดการน้ำทำให้ภัยพิบัติน้ำท่วมภาคกลางไปได้ แต่ “กระแสยี้” สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนเก่าที่บ้านเกิด ซึ่งมีป้ายแสดงความยินดี “ฯพณฯ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ “ผุดขึ้น ท่ามกลางการคัดค้านการแสดงออกต่อศิษย์เก่าคนนี้เสียแล้ว

ยังไม่รวมถึงกระแสสังคมที่ “ผิดหวัง” ตาม “ความคาดหวัง” ประการแรก คือ เป็นการปูนบำเหน็จให้แกนนำคนเสื้อแดง แม้จะเป็นที่รู้กันว่า “เต้น” เป็นหนึ่งใน 3 เกลอหัวขวด ผู้ประกาศตัวเป็น “ไพร่” เต็มขั้นที่ปลุกระดมคนเสื้อแดงให้เผาบ้านเผาเมืองเพื่อสู้กับ “อำมาตย์” และเป็นจำเลยคดีก่อการร้าย แต่เมื่อโอกาสและจังหวะเหมาะที่ “รัฐบาลปู” จะปูนรางวัลให้เป็น “เสนาบดี” แซงหน้ารุ่นพี่ด้วย “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ซึ่งถูกถอดถอนจากการเป็น ส.ส. จึงมิพักทวงถามถึงเชิงจริยธรรมและคุณธรรมของ รมช.ผู้นี้ มิหนำซ้ำยังได้ นายอารี ไกรนรา อดีตหัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดง มาสำทับเป็นเลขานุการฯ รมช.เกษตรฯ หนักเข้าเสียอีก

ประการต่อมา คือ “ความไม่เหมาะสม” แม้ว่าที่ผ่านมาผลงานของคนเก่าจะไม่เตะตา แต่สังคมก็ยังคาดว่าเมื่อมีการปรับเปลี่ยนคนแล้ว จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ที่ต้องมามี “กึ๋น” กว่าคนเก่า เพราะดูแลหน่วยงานถึง 4 กรม และ 3 รัฐวิสาหกิจ เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ และองค์การสะพานปลา องค์การสวนยาง องค์การสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นต้น

ความรังเกียจรังงอนจึงเกิดขึ้นในหมู่เกษตรกร โดยเฉพาะคนใต้ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะพื้นเพของนายณัฐวุฒินั้น แม้จะเป็นคน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ก็จริง แต่ตัวเขามิได้ฝักใฝ่และเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวสวน แต่กลับนิยมชมชอบในด้านการพูด ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญเพื่อเป็นสะพานไต่สู่ถนนการเมือง ด้วยรู้ดีว่านักการเมืองที่มีชั้นเชิงและวาทศิลป์ ย่อมได้เปรียบกว่าการทำงานเป็น แต่ไม่รู้จักประชาสัมพันธ์ตัวเองและโจมตีผู้อื่น

เส้นทางชีวิตของนายณัฐวุฒิอาศัยพื้นฐานมาจากพรสรรค์บวกกับพรแสวงในด้านการพูดที่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เคยการเป็นแชมป์ “นักโต้วาที” จากรายการ “โต้คารมมัธยมศึกษา” ก่อนจะสำเร็จการศึกษาจบนิเทศศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปี 2541 และปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ชีวิตการทำงานจึงเริ่มเก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์อย่างใจเย็นด้านอาชีพนักพูด นักอบรมในบริษัท อดัมกรุ๊ป ซึ่งเป็นของนายอภิชาต ดำดี อาจารย์นักพูดชื่อดังเมืองไทยในขณะนั้น เมื่อถึงวัยเบญจเพสจึงกระโจนเข้ามาบนถนนการเมืองด้วยการสมัคร ส.ส.ที่บ้านเกิดในนามพรรคชาติพัฒนา ปี 2544 แม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สลับกับงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังให้กับสถานโทรทัศน์ เช่น รายการ “รัฐบาลหุ่น” โดยการเลียนแบบเสียงของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, รายการสภาโจ๊ก เป็นต้น เพื่อเก็บทุนรอนเข้าสู่การเมือง จนกระทั่งปี 2549 ได้เป็น ส.ส.สมใจ เมื่อเข้าสังกัดในนามพรรคไทยรักไทย ทว่า ยิ้มแก้มปริได้เพียง 7 วันเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโฆฆะ และเกิดรัฐประหารในปีเดียวกัน

และเมื่อนายณัฐวุฒิเข้าร่วมต่อสู้เพื่อพิทักษ์ “ระบอบทักษิณ” อย่างเต็มตัว ผลงานที่โดดเด่นของเขาซึ่งถูกใจ “นายใหญ่” นอกจากการปลุกเป่า ระดม และยุยงมวลชนคนเสื้อแดงให้เคลื่อนไหวตามแผนก่อความวุ่นวายเพื่อแลกกับตำแหน่งในรัฐบาลแล้ว ล้วนต่อยอดการทำงานด้วยฝีปากทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตามลำดับ ซึ่งนั่นนับว่าเป็นการใช้คนถูกกับงาน ต่างจากครั้งนี้ที่ตัวเขาเองก็กล่าวยอมรับว่า ตำแหน่งที่ได้รับนั้นไม่ใช่งานที่เชี่ยวชาญ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการขึ้นแท่น รมช. มิใช่งานดูแลมวลชนเฉพาะกลุ่มดังเช่นที่เคยทำมา แต่เป็นการดูแลทุกข์สุข และบรรเทาปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรไทยที่มีอยู่นับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากแต่ละปีต้องเผชิญกับราคาผลผลิตตกต่ำเพราะถูกนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่นรับจำนำในราคาสูงเมื่อผลผลิตตกอยู่ในมือของนายทุนแล้ว มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่แปรปรวน แต่รัฐบาลแทบทุกชุดกลับทำได้แค่การตั้งงบเงินช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งเป็นช่องทางการทุจริตทั้งสิ้น ทำให้แทบทั้งปีมีทั้งม็อบเกษตรกรลุกขึ้นปิดถนน แวะเวียนทำเนียบรัฐบาลอยู่เนืองๆ

และหากมาดูปัญหาในบ้านเกิดเมืองนอนของนายณัฐวุฒิเอง เรื่องราคายางพาราตกต่ำเหลือลงเหลือกิโลกรัมละไม่ถึงร้อยบาท ก็เป็นเพราะคนในรัฐบาลเข้าไปจุ้นจ้านซื้อขายยางพาราล่วงหน้ามิใช่หรือ ทำให้เกิดม็อบชาวสวนยางเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งการต่อรองให้ประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งนับว่าต่ำกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเสียอีก และหากวันใดที่เกษตรกรด้ามขวานเกิดความเดือดร้อน ยังไม่รู้ว่าเขาจะสามารถลงพื้นที่แก้ปัญหาในปักษ์ใต้บ้านเกิดตัวเองได้หรือไม่

ที่กล่าวมานี้ เพราะปัญหาของภาคเกษตรยังมีอีกมากมายทั่วทุกภูมิภาค จึงต้องการคนที่รู้จริงเข้ามาดูแลแก้ไข มิใช่เพื่อกินเงินเดือน และตีฝีปากไปวันๆ เท่านั้น และคงไม่มีใครอยากเห็น รมช.เกษตรฯ ที่หวนกลับพลิกบทบาทใช้ “วาทะ” ปราบม็อบเสียเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น