xs
xsm
sm
md
lg

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ SMEs ส่อเน่าแสนราย สังเวยค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ชี้ ขึ้นค่าแรง 300 บาทส่อกระทบเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการนับแสนราย เผยแนวโน้มอีก 8 เดือนข้างหน้าเอสเอ็มอีให้ความสำคัญด้านเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน แจงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐไม่จูงใจ เสนอภาครัฐเตรียมแผนพัฒนาแรงงานรับมือค่าแรง 300 บาททั่วประเทศในต้นปีหน้า

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์งานวิจัยเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ: บทเรียน ผลกระทบและการปรับตัว” เน้นที่การปรับตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 7 จังหวัดนำร่องที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันไปแล้ว พบว่าในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่เอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการประมาณ 10-15% หรือ 8 หมื่น-1.2 แสนราย

ทั้งนี้ จำนวนกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอี 536 รายใน 7 จังหวัด มีพนักงานที่ต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำถึง 45.5% กระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า โดยทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่ม 16.2% ส่งผลให้เอสเอ็มอีกว่า 44% หาทางออกด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มจะอยู่ที่ 13.8% ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ 2.4% และเป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์โดยดัชนีผสาน (Diffusion Index) เปรียบเทียบไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ พบว่าแนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ในช่วงขาลง ทั้งยอดขายที่ลดจาก 13.7% เหลือ 9.2% ต้นทุนเพิ่มจาก 41.1% เป็น 52.2% การจ้างงานติดลบ จาก -3.8% เป็น -13.7% สภาพคล่องติดลบจาก -10.8% เป็น -18.5% ภาระหนี้สินติดลบจาก -16.6% เป็น -20.4% และการลงทุนติดลบจาก -12.7% เป็น -19.7%

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เผยต่อว่า จากแนวโน้มดังกล่าวพบว่า ในอีก 8 เดือนข้างหน้าเอสเอ็มอีจะปรับตัวโดยให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้น 76.6% และควบคุมต้นทุนในส่วนอื่นมากขึ้นอีก 61.3% อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้น ทำให้การควบคุมต้นทุนอื่นๆ ทำได้ยาก ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้เอสเอ็มอีก็เลือกที่จะลดขนาดธุรกิจลงแทน

ทั้งนี้ จากผลสำรวจระบุด้วยว่า จำนวนกว่า 45.1% มีแนวโน้มนำเครื่องจักรมาแทนพนักงานมากขึ้น ซึ่งหากได้เงื่อนไขเงินกู้ที่จูงใจ โดยเมื่อซื้อเครื่องจักรมาแล้ว เอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะไม่เก็บแรงงานไร้ฝีมือไว้แล้ว ส่วนอีก 36.1% เลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น โดยให้เฉพาะคนที่มีฝีมือในการทำโอทีเพราะมีผลิตภาพมากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ และอีก 15.5% ปรับตัวโดยการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น

เมื่อสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลมีให้ ส่วนใหญ่ไม่สนใจมาตรการด้านเงินกู้ เช่น 78.9% ไม่สนใจสินเชื่อเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจว่าจะชำระคืนได้ ดอกเบี้ยสูงเกินไป และไม่ต้องการเพิ่มภาระหนี้สิน และอีก 85.3% ไม่สนใจสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการจ้างงานของกองทุนประกันสังคม โดยให้เหตุผลเช่นเดียวกับมาตรการข้างต้น

ขณะที่มาตรการด้านภาษียังไม่ดึงดูดใจเอสเอ็มอีเช่นกัน เช่น การยกเว้นภาษีรายได้จากการขายเครื่องจักรเก่ามาเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรใหม่ มีเพียง 19.2% ที่บอกว่าได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ส่วนการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร 100% ในปีแรกมีเพียง 11.1% ที่บอกว่าได้ประโยชน์

ส่วนการให้นำส่วนต่างค่าแรงไปหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 1.5 เท่า มี 34.4% ที่บอกว่าได้ประโยชน์ แต่ปัญหาคือ มีเอสเอ็มอีแค่ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่อยู่ในระบบภาษี และเป็นเอสเอ็มอีกลุ่มที่แข็งแรงอยู่แล้ว ส่วนอีก 2 ใน 3 เป็นกลุ่มที่ไม่แข็งแรง ไม่อยู่ในระบบภาษีและไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้

สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัย คือ รัฐบาลต้องเตรียมแผนพัฒนาความสามารถแรงงานเพื่อรองรับคนที่จะตกงานในอนาคต รวมทั้งควบคุมต้นทุนในด้านอื่นๆ ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจมีเวลาปรับตัว และหากเป็นไปได้ควรทบทวนเรื่องการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 เพราะจะทำให้ผลกระทบรุนแรงมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น