ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจความมั่นใจของเอสเอ็มอีต่อการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดยร้อยละ 75.4 หรือว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างระบุไม่เชื่อมั่น เผยกว่าร้อยละ 66.4 เตรียมแผนรองรับน้ำท่วมด้วยตัวเองแล้ว แนะรัฐบาลเร่งให้ความสำคัญ แสดงศักยภาพ พร้อมทำงานอย่างโปร่งใสเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทำการสำรวจการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 418 รายที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งในจำนวนนี้ 352 รายเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เคยทำการสำรวจในประเด็นเดียวกันมาแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 84.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ทำการสำรวจในครั้งนี้
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของน้ำท่วมปี 2555 ในพื้นที่ที่กลุ่มตัวอย่างประกอบกิจการอยู่เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2554) ร้อยละ 12.2 คาดว่ารุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 18.4 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ร้อยละ 33.5 น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 31.6 เชื่อว่าไม่ท่วม และอีกร้อยละ 4.3 ไม่แน่ใจ
ด้านความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ร้อยละ 4.2 ระบุว่าเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 20.4 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 55.6 ไม่ค่อยเชื่อมั่น และอีกร้อยละ 19.8 ไม่เชื่อมั่นเลย ซึ่งหากรวมกลุ่มที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นเลยเข้าด้วยกันจะคิดเป็นร้อยละ 75.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เชื่อมั่นใน 4 จังหวัดนี้มีอยู่ร้อยละ 52.1
ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับน้ำท่วม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.4 มีแผนรับมือกับน้ำท่วมไว้แล้ว ร้อยละ 33.6 ยังไม่มีแผน กลุ่มที่มีแผนรับมือสามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวไปแล้วโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 87.3
เมื่อสอบถามถึงวิธีการเตรียมการรับมือกับน้ำท่วม แบ่งตามหลักแผนประคองกิจการ พบว่าร้อยละ 53.3 มีการบันทึกข้อมูลสำรองของบริษัทและลูกค้า ร้อยละ 50.0 สำรองเงินสดไว้ใช้ ร้อยละ 35.0 ย้ายสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องมือเครื่องจักรไปไว้ที่สูง ร้อยละ 31.7 หาแหล่งเงินกู้ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ร้อยละ 30.0 ถมที่/สร้างพนังกั้นน้ำ ร้อยละ 28.3 เตรียมสำรองวัตถุดิบไว้ใช้ในการผลิต ร้อยละ 26.7 วางแผนการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ร้อยละ 25.0 วางแผนการอพยพพนักงานในกรณีน้ำท่วมฉุกเฉิน ร้อยละ 21.7 หาสถานที่ผลิตชั่วคราวในพื้นที่อื่น ร้อยละ 18.3 หาผู้ขายวัตถุดิบ หรือซัปพลายเออร์ในพื้นที่อื่น
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการเรียนรู้จากมหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาจึงเตรียมการล่วงหน้าระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการรับมือกับปัญหาของเอสเอ็มอีมีจำกัด รัฐบาลจึงต้องมีการวางแผนและการบริหารจัดการปัญหานี้ให้ดีเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องตระหนักว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจด้านการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลเป็นดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางการเมืองที่สำคัญตัวหนึ่ง
“ความเชื่อมั่นที่ลดลงถึงร้อยละ 23.3 ในเวลาเพียง 6 เดือนจึงเป็นสัญญาณเตือนที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม เพราะภาพความไม่มีประสิทธิภาพและความไม่โปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลซึ่งยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานในช่วงเกิดมหาอุทกภัยในปีก่อน รัฐบาลต้องเข้าใจว่านักธุรกิจไม่ได้ประเมินคำว่า “เอาอยู่” จากการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 แต่จะประเมินจากความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมว่าคุ้มค่ากับงบประมาณ 350,000 ล้านบาทที่ลงไปหรือไม่” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าว