xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ผลพวง ศก.ทรุดกระทบ SMEs เสี่ยงตาย 2 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ชี้ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลรุนแรงต่อธุรกิจเอสเอ็มอี คาดการณ์ไตรมาส 4 มีกลุ่มเสี่ยงปิดกิจการกว่า 2 แสนราย ด้านผลวิจัยพบว่าเอสเอ็มอีกว่า 58.9% ได้รับผลกระทบ และ 70% เห็นว่าเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนการปรับตัวกว่า 50% พึ่งพาเงินกู้จากบัตรเครดิต

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึงผลงานวิจัยเรื่อง “SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” โดยการศึกษาการปรับตัวของ SMEs จำนวน 713 ราย จาก 16 จังหวัด ใน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการ ส่วนที่ 2 แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ พบว่า 69.4% เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว และ 58.9% ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

นอกจากนี้ ในส่วนของการปรับตัวของเอสเอ็มอี จากการสำรวจพบว่าเอสเอ็มอีมีการปรับตัวโดยหันไปใช้การกู้ยืมเงินจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อนอกระบบมาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีในระยะยาว เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง และ 60.4% ปรับตัวด้วยการลดขนาดการผลิต

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ในไตรมาส 2 และ 3 ยังคงใช้วิธีการลดต้นทุนถึง 74.4% ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาส 4 และไตรมาส 1 จะไม่สามารถใช้การปรับตัวด้วยการลดต้นทุนได้อีก เนื่องจากในที่สุดแล้วปัญหากำลังซื้อที่ลดลงและต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ SMEs ต้องเจอกับปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น

ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีว่า ในมุมมองของตนเอง มองว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเอสเอ็มอี เนื่องจากมีทรัพยากรและความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ การที่ SMEs กว่าครึ่งระบุว่าการปรับลดราคาได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้ จากปัญหาค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อลดลง

ทั้งนี้ คาดการณ์ในไตรมาส 4 จะมีเอสเอ็มอีที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่อาจจะต้องปิดกิจการมากถึง 2 แสนรายจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย มองว่ารัฐบาลควรมองการใช้จ่ายเงินให้สามารถลงไปถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่งบประมาณ คือโครงการต่างๆ ของภาครัฐในขณะนี้จะไปกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของ GDP อาจจะไม่ได้เป็นตัววัดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ถ้าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข

ดร.เกียรติอนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงมหภาค เช่น การเร่งเบิกจ่ายเงินของภาครัฐให้ประโยชน์แก่ SMEs ไม่มากนัก และใช้ระยะเวลานานกว่าประโยชน์จะตกถึง SMEs นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการเพิ่มเงินให้ประชาชนในระยะสั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งดูได้จากการที่ GDP ณ ราคาปีฐานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.3 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 แต่เมื่อมาถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 GDP กลับลดลงมาเป็น 1.2 ล้านล้านบาทเหมือนเดิม จริงอยู่การเพิ่มขึ้นและลดลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจของแต่ละไตรมาส แต่การที่ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้กลับลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเมื่อ 18 เดือนก่อนแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ไม่สดใสนัก

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น