xs
xsm
sm
md
lg

ม.ธุรกิจฯ ชี้ SMEsไตรมาส 4 หมดยุคพึ่งกลยุทธ์ราคาได้อีก เหตุต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
ผอ. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึงการปรับตัวของเอสเอ็มอี ในช่วงไตรมาส 4 ไม่สามารถพึ่งการลดต้นทุนได้อีก แนะเอสเอ็มอี ไม่ควรเพิ่มต้นทุนช่วงนี้ เหตุ เพราะไม่สามารถใช้กลยุทธ์ราคาได้อีก ชี้ เอสเอ็มอี หันมาแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นด้วยการพึ่งพาบัตรเครดิต ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงสูง ในระยะยาว

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง และจากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ต่างใช้วิธีการลดต้นทุนการผลิตในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การลดต้นทุนดังกล่าว จะไม่สามารถใช้ได้ในไตรมาสต่อไป เพราะต้นทุนการผลิตทุกอย่างเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถใช้การปรับราคาสินค้าเพิ่ม หรือ ใช้กลยุทธ์ราคาลงมาเล่นได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ จากการที่หน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างเล็งเห็นว่า ผู้ประกอบการควรที่จะปรับตัวด้วยการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่ทางออก เพราะจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นไปอีก ในขณะที่ราคาไม่สามารถปรับขึ้นได้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การประคับประคองไม่ให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สามารถขายในราคาเดิม โดยไม่ต้องมีการปรับราคาสินค้าในช่วงนี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัว โดยหันไปพึ่งพาการใช้เงินกู้ยืมจากบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น เพื่อมาแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะมีความสุ่มเสียงสูง เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิต จะไม่คุ้มกับการลงทุน

ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีว่า ในมุมมองของตนเอง มองว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเอสเอ็มอี เนื่องจากมีทรัพยากรและความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ การที่ SMEs กว่าครึ่งระบุว่าการปรับลดราคาได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้ จากปัญหาค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อลดลง

ทั้งนี้ คาดการณ์ในไตรมาส 4 จะมีเอสเอ็มอีที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่อาจจะต้องปิดกิจการมากถึง 2 แสนรายจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย มองว่ารัฐบาลควรมองการใช้จ่ายเงินให้สามารถลงไปถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่งบประมาณ คือโครงการต่างๆ ของภาครัฐในขณะนี้จะไปกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของ GDP อาจจะไม่ได้เป็นตัววัดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ถ้าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น