xs
xsm
sm
md
lg

ระดมกระเป๋า 33 มหาลัย ลงขัน 200 ล.บาท ขอทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.รัฐ และ ม.เอกชน 33 แห่ง ร่วมมือเป็นเครือข่ายขอยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะประเภท 1 ควักกระเป๋าลงขันเบื้องต้น 200 ล.บาท หวังเป็นต้นแบบทีวีมีสาระ เน้นข่าวสารร้อยละ 75 ที่เหลือเป็นรายการบันเทิง
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน ทปอ.
วันนี้ (4 มิ.ย.) จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน ทปอ.พร้อมตัวแทนมหาวิทยาลัยรัฐ ที่เป็นสมาชิก ทปอ.27 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 6 แห่ง ได้แก่ ม.กรุงเทพ ม.ศรีปทุม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.รังสิต ม.หอการค้าไทย และ ม.เนชั่น รวมทั้งหมด 33 มหาวิทยาลัย ลงนามในความร่วมมือ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อบริการสาธารณะ” เพื่อแสดงความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะประเภทที่ 1 โดย ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้สถาบันการศึกษามีสิทธิขอรับใบอนุญาตช่องกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยใช้คลื่นความถี่ประเภทสาธารณะ (Free TV ) เพราะฉะนั้น ในการประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556 จึงมีมติให้ยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่น โดยมอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้แทน ทปอ.ในการยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งทางจุฬาฯทำหนังสือแจ้งมายัง ทปอ.เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้จัดทำแผนยื่นขอใบอนุญาต เรียบร้อยแล้ว

ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สาระสำคัญในแผนดังกล่าวนั้น กำหนดหลักการให้มหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่ง และม.เอกชน 6 แห่ง ร่วมมือกันในชื่อ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อบริการสาธารณะ เพื่อยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะประเภทที่ 1 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ สุขภาพอนามัย กีฬาและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นการให้บริการสาธารณะเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนไทย ซึ่งตามบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยยาลัยทุกแห่งนั้น นอกจากจะต้องให้ความรู้แก่นักศึกษาแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมด้วย เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยทั้ง 33 แห่ง จึงจัดพิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อแสดงความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะ เพื่อผลิตรายการที่มีสาระและคุณภาพนำเสนอต่อประชาชน ที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการรายการทีวีอยู่แล้ว แต่ขาดช่องทางสาธารณะ ดังนั้นตนมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยจะได้รับโอกาสจาก กสทช.และยืนยันว่าการผลิตรายการต่างๆ จะมีมาตรฐานที่สูงเท่ากันกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในประเทศไทย และจะเพิ่มมาตรฐานให้สูงขึ้นไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป

เรื่องการจัดผังรายการในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด โดยพิจารณาควบคู่ไปกับการดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาต ซึ่งตามเป้าหมายแล้วรายการที่จะนำมาออกอากาศ มั่นใจ 100% ว่าจะได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ผมหวังว่า กสทช.จะพิจารณาเราพอสมควร เพราะสามารถมองเห็นประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายบริการสาธารณะนี้ และยืนยันว่า จะเป็นโทรทัศน์ที่เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใครอยากทำก็ทำ หรือไม่ใช่มาแบ่งเวลากันแล้วใครอยากทำอะไรก็ทำ หรือเอานักศึกษาฝึกงาน หรือใครๆ มาทำก็ได้ แต่จะหามืออาชีพมาช่วยบริหารจัดการผังรายการ เลือกผลิตรายการที่ตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อของประชาชน เราอยากเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการสถานีที่มีรายการทีดีและมีสาระเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ทปอ.ได้มอบหมายให้จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อเสนอแผนงานเพื่อเตรียมเสนอต่อ กสทช. ตนจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้น โดยมอบหมาย รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ทัคศรี รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน โดยในการแผนยื่นขอใบอนุญาตนั้น จะให้รายละเอียดทั้งหมด 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต, บริหารผังรายการและงบประมาณ โดยในส่วนของการบริหารงานนั้น จะดำเนิการการในรูปแบบคณะกรรมการ มีตัวแทนจาก 3 ส่วนคือ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นพันธมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และตัวแทนภาคเอกชน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารจัดการเพื่อให้ช่องโทรทัศน์นี้เป็นต้นแบบทีวีสาธารณะของมหาวิทยาลัย ที่หลายหน่วยงานสามารถมีส่วนร่วมเป็นผู้บริหาร เป็นทีวีที่มีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำ เพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปสื่อได้อย่างสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยจุดเด่นของสถานีคือการเป็นสื่อสาธารณะที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแบบอย่างการบริหารจัดการองค์กรที่ดีต่อสื่อมวลชนตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อ

ส่วนผังรายการนั้น ออกอากาศ 24 ชั่วโมง จะเป็นรายการข่าวสาร ความรู้ไม่น้อยกว่า 75% ที่เหลือเป็นรายการบันเทิง โดยใช้มืออาชีพจากภายในมหาวิทยาลัยและภายนอก รวมทั้งเครือข่ายของ ม.ต่างๆ มาร่วมกันผลิตรายการ ส่วนงบประมาณตั้งต้นนั้น มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งลงขันกันไว้ 200 ล้านบาท” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้แทน ม.เอกชนทั้ง 6 แห่ง กล่าวว่า อธิการบดี ม.เอกชนทั้ง 6 แห่ง มีความกังวลอยู่แล้วว่า มีความกังวลในการประมูลช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 12 ช่อง ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่อยากให้ตกไปอยู่ในการการครอบครองของภาครัฐที่ไม่มีความเหมาะสม ซึ่งทำให้เสียงบประมาณผลิตรายการไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ในความพร้อมของ ทปอ.และ ม.เอกชน แล้ว เชื่อว่ามีศักยภาพเกินมาตรฐานสำหรับการยื่นขอใบอนุญาต

ยืนยันว่าการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่คำนึงถึงเฉพาะกลุ่มคนส่วนใหญ่ และด้วยความพร้อมของมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ เมื่อรวมกับการริเริ่มโดย ทปอ.ทำให้ตนมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์และคิดว่าจะเป็นแบบอย่างในการจัดทำรายการให้แก่โทรทัศน์ทุกช่อง” ผศ.ดร.ทัณฑ์กานต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น