xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ประเมินเงินเฟ้อไตรมาส 4/56 อยู่ที่ระดับ 2.4% หลังปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธ.ไทยพาณิชย์ ประเมินเงินเฟ้อไตรมาส 4/56 อยู่ที่ระดับ 2.4% หลังปรับขึ้น “แอลพีจี” พร้อมระบุการทยอยปรับขึ้นราคา กก.ละ 0.50 บาทต่อเดือน ทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ละเดือน 7.50 บาท ซึ่งประชาชนทั่วไปน่าจะสามารถปรับตัวกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ได้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีภาคครัวเรือน จาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จนไปสู่ระดับที่สะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไปนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้ซื้อแอลพีจีราคาเดิมต่อไป

สำหรับครัวเรือนทั่วไป ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซหุงต้มแบบถังขนาด 15 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 1 ถัง ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นราคากิโลกรัมละ 0.50 บาทต่อเดือน ทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ละเดือน 7.50 บาท ซึ่งประชาชนทั่วไปน่าจะสามารถปรับตัวกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ และเมื่อราคาแอลพีจีปรับขึ้นไปจนสะท้อนต้นทุนปี 2557 ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 90 บาทต่อเดือน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อเดือนในประเทศ

ขณะที่ราคาแอลพีจีที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนอาหารสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ การปรับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่เกิน 35 สตางค์ต่อจาน ถือว่าน้อยมาก แม้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอาหาร แต่จะไม่มีนัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 หลังจากปรับขึ้นราคาแอลพีจีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4

นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระการจ่ายเงินอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนต้องมีภาระเป็นเงินจำนวน 3,000-4,000 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อนำไปอุดหนุนให้ผู้ใช้แอลพีจีก๊าซ ให้ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาแอลพีจีจะมีส่วนช่วยให้เกิดการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการนำเข้าแอลพีจี และภาระกองทุนน้ำมันฯ ได้มาก

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนจะช่วยลดปัญหาการลักลอบส่งออกแอลพีจีไปขายในต่างประเทศ และการนำไปใช้ผิดประเภท เพราะที่ผ่านมา ราคาขายปลีกแอลพีจีภาคครัวเรือนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) สูงกว่าไทยถึงร้อยละ 100-200 เปิดโอกาสให้มีการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันคนไทยไปชดเชยให้ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบถ่ายเทนำไปใช้ในภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีราคา 21.38 และ 30.13 บาทตามลำดับ มีส่วนต่างสูงกว่าแอลพีจีภาคครัวเรือนค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ แอลพีจีที่เป็นไปตามกลไกตลาดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานระยะยาว ราคาแอลพีจีที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีการใช้พลังงานอย่างประหยัด ขณะที่ผู้ผลิตต้องคิดค้นพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เช่น ไดเมทิลอีเทอร์ (DME) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายแอลพีจี โดยผลิตจากชีวมวลที่สามารถหาได้ในประเทศ เป็นลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เงินที่เหลือจากภาระที่ต้องชดเชยราคาแอลพีจีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น