xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์แห่ปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 5 หมื่นไร่-รง.น้ำตาลขยายกำลังผลิตรับ 1 ล้านตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนาบุรีรัมย์ประสบแล้งซ้ำซากทำนาข้าวไม่คุ้มทุน หันมาปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 50,000 ไร่
บุรีรัมย์ - ชาวนาบุรีรัมย์ประสบแล้งซ้ำซาก ทำนาไม่คุ้มทุนหันมาปลูกอ้อยเพิ่มปีละ 50,000 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ขณะ รง.น้ำตาลเตรียมขยายกำลังผลิตปี 57-58 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน รองรับผลผลิตเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นทุกปี

วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ 6 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.แคนดง อ.ลำปลายมาศ อ.สตึก และ อ.คูเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ทำนาข้าวได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน ได้หันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 50,000 ไร่

โดยจากข้อมูลในปีการผลิต 2555/56 มีเกษตรกรทั้ง 6 อำเภอปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 6,000 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 120,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบกว่า 1.3 ล้านตัน ต่อมาในปี 2556/57 มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ราย พื้นที่ปลูกเพิ่มอีกกว่า 50,000 ไร่ มีผลผลิตส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน และคาดว่าในปี 57/58 เกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่

สาเหตุที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำนาหันมาปลูกอ้อยแทนนั้น เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ทั้งยังสามารถไว้ตอได้หลายปี ซึ่งช่วยลดต้นการผลิตให้เกษตรกรได้อีกด้วย และหลังจากทางหน่วยงานภาครัฐร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่แล้ว ปัจจุบันทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ย 13 ตันต่อไร่ มีรายได้ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่คุ้มค่า

นางจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด กล่าวว่า จากพื้นที่ปลูกและผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทางโรงงานน้ำตาลได้วางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันมีผลผลิตส่งเข้าหีบ 2 ล้านตันในปี 2557-2558 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกปีละ 500,000 ตัน รวมเป็น 1 ล้านตัน เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

ทางด้าน นายศานติ นึกชอบ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ได้ทำเรื่องประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ให้มาปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ หลังจากเกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอได้ร้องขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ต้นข้าวที่ไถหว่านและปักดำไว้ขาดน้ำหล่อเลี้ยงเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายเป็นจำนวนมาก

“จากการสำรวจพบว่า ทั้งจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่นาข้าวประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงถึงร้อยละ 60 จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 3.4 ล้านไร่” นายศานติกล่าว

นางจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น