บุรีรัมย์ - รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่บุรีรัมย์ เร่งดันโครงการเกษตรโซนนิ่ง สนองนโยบาย “ยิ่งลักษณ์” ระบุหนุนชาวนาบุรีรัมย์ปลูกอ้อยแทนข้าวกว่า 3 แสนไร่ อ้างทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ลดความเสี่ยงปัญหาสภาพอากาศ ราคาและตลาด เผยเตรียมปรับโครงสร้างและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก้ยางราคาตกต่ำ
วันนี้ ( 7 ส.ค.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ติดตามความคืบหน้าโครงการเกษตรโซนนิ่ง ตามนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หวังกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ภาวะราคาผลผลิตและตลาดที่จะรองรับผลผลิต
โดย นายยุคล ได้ร่วมเวทีเสวนากับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกร ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโนนขวาง อ.บ้านด่าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดโซนนิ่งการปลูกอ้อยแปลงเล็กในพื้นที่นาไม่เหมาะสม ก่อนจะลงพื้นที่ไปดูตัวอย่างพื้
นที่นาไม่เหมาะสมที่เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนจากนาข้าว หันมาปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นที่สนใจจะปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าจังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 3 ล้านไร่ แต่จากการสำรวจพบว่าในจำนวนนี้ มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำนากว่า 8,500 ไร่ เหมาะสมปานกลางกว่า 1.4 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมในการทำนามากกว่า 2 ล้านไร่
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 3 ล้านไร่ และจากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมจะปรับเปลี่ยนหันไปปลูกอ้อยแทนนาข้าวกว่า 3 แสนไร่ โดยในปีแรกจะมีการส่งเสริมให้ดำเนินการก่อน 60,000 ไร่ ที่เหลือจะส่งเสริมปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งจะประสานทางโรงงานน้ำตาลให้ขยายการผลิต เพื่อการรองรับผลผลิตอ้อยของเกษตรกรด้วย เชื่อว่าโครงการเกษตรโซนนิ่งจะสามารถลดปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกรมีพื้นที่นาไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี
นายยุคล กล่าวถึงกรณีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราหลายพื้นที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ว่า ปัญหาราคายางขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ประกอบกับเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ได้วางแผนปรับโครงสร้างการผลิตยางพาราของเกษตรกรให้ชัดเจน พร้อมทั้งที่ผ่านมายังจะได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ย และด้านปัจจัยการผลิต ทดแทนการไปซื้อยางของเกษตรกรแข่งกับราคาตลาดเพราะ จะมีปัญหาตามมาในภายหลังอย่างแน่นอน
“ขณะนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ร่วมกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาข้อยุติ เกี่ยวกับการช่วยเหลือและแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมกันนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังจะได้ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการยางแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในสัปดาห์หน้าด้วย” นายยุคล กล่าว