xs
xsm
sm
md
lg

อากาศแล้งทำลำไยเชียงใหม่ออกช้า ผลผลิตลด จังหวัดเร่งเตรียมมาตรการระบายผลผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญส่ง เหมยคำ รักษาการหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักงานเกษตรเชียงใหม่เผยผลผลิตลำไยปี 56 ลดลง-ออกช้ากว่าปกติ เหตุแล้ง เชื่อผลผลิตเกรด AA ลดตาม แต่ราคาปีนี้ดีกว่าเดิม คาดลำไยในฤดูเข้าตลาดปีนี้กว่า 180,000 ตัน เตรียมหามาตรการระบายผลผลิต ทั้งสนับสนุนการแปรรูป-ส่งขายต่างจังหวัด ส่วนตลาดต่างประเทศ ชี้เวียดนามอนาคตสดใส แต่อินโดนีเซียสั่งซื้อลดลง

วันนี้ (16 ก.ค.) นายบุญส่ง เหมยคำ รักษาการหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตลำไยปี 2556 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกลำไยในปีการผลิต 2555/2556 จำนวนทั้งสิ้น 316,143 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผล 300,716 ไร่ ได้ผลผลิต 266,937 ตัน แบ่งออกเป็นพื้นที่ให้ผลผลิตในฤดูกาลผลิตจำนวน 230,486 ไร่ ผลผลิต 183,960 ตัน และพื้นที่ให้ผลผลิตนอกฤดูกาลผลิตจำนวน 70,230 ไร่ ผลผลิต 82,977 ตัน โดยพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่คืออำเภอจอมทอง อำเภอพร้าว อำเภอสันป่าตอง อำเภอสารภี และอำเภอดอยหล่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับพื้นที่ให้ผลผลิตในปีการผลิต 2554/2555 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 308,074 ไร่แล้วพบว่ามีปริมาณลดลงร้อยละ 2.4

สำหรับปริมาณการผลิตลำไยในปี 2556 ของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2556 มีจำนวน 183,960 ตัน ขณะที่สถานการณ์การเก็บเกี่ยวล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ตามรายงานจากอำเภอต่างๆ พบว่ามีผลผลิตที่ได้ทำการเก็บเกี่ยวไปแล้วจำนวนประมาณ 1,523 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.83 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2556

ขณะที่สถานการณ์ราคาล่าสุดพบว่าลำไยประเภทสดช่อส่งออก (ตะกร้าขาว) เกรด AA ราคา 21.50 บาท เกรด A ราคา 17.67 บาท เกรด B ราคา 10.33 บาท ลำไยประเภทสดช่อภายในประเทศ (มัดปุ๊ก) เกรด AA ราคา 19.33 บาท เกรด A ราคา 17.50 บาท เกรด B ราคา 7.33 บาท ลำไยประเภทสดร่วง เกรด AA ราคา 17.56 บาท เกรด A ราคา 12.56 บาท เกรด B ราคา 6.11 บาท

นายบุญส่งกล่าวว่า ในปีนี้จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ผลผลิตลำไยลดลง โดยเฉพาะลำไยเกรด AA แต่ลำไยเกรด A คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสภาพอากาศยังส่งผลให้ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดช้ากว่าปกติ จากเดิมที่เริ่มมีผลผลิตจำนวนมากออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่ในปีนี้คาดว่าผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. โดยตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.จนถึงกลางเดือน ส.ค.คาดว่าจะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่ผลผลิตโดยรวมลดลงจะส่งผลให้ราคาลำไยในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

นายบุญส่งเปิดเผยว่า สำหรับมาตรการรองรับผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดนั้น ในเบื้องต้นได้มีการประชาสัมพันธ์ให้อำเภอต่างๆ เร่งสำรวจแหล่งรับซื้อลำไยของผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการแปรรูปลำไยด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการระบายผลผลิตออกสู่ตลาด ขณะเดียวกันได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการนำผลผลิตลำไยบางส่วนมาทำการแปรรูป อาทิ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ก็มีการหารือกันของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในการประเมินราคาต้นทุนลำไยและเตรียมงบประมาณในการรับซื้อลำไยหากราคาตกต่ำ อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงราคานั้นจะไม่มีการดำเนินการหากราคาในท้องตลาดยังสูงกว่าราคาต้นทุนที่ประเมินไว้ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดแทน

ส่วนการเตรียมการเพื่อระบายผลผลิตลำไยออกสู่ท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศนั้น นายบุญส่งระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่มีความต้องการลำไยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากยอดการสั่งซื้อและราคารับซื้อ ส่วนตลาดอินโดนีเซียในปีนี้ปริมาณการสั่งซื้อคงจะลดลงหลังจากที่มีการกำหนดโควตาการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่จะให้ความสำคัญต่อการระบายผลผลิตลำไยไปตามตลาดต่างๆ ภายในประเทศ โดยได้มีการประสานไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมการช่วยรับซื้อผลผลิตลำไยไปจำหน่ายต่อในพื้นที่ไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น