ผงะ! 3 ปีใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าว 1 ล้านล้านบาท ธ.ก.ส.ยอมรับ 2 ปี 6.66 แสนล้านบาท ยันปีนี้จะขีดเส้นไม่เกิน 3.45 แสนล้าน ปิดรับหลัง 15 ก.ย.นี้ เชื่อพาณิชย์นำส่งเงินให้ได้ถึง 2 แสนล้านสิ้นปี พร้อมเผยเกษตรกรรับได้จำนำรอบใหม่ตันละ 1.2 หมื่นบาท แต่ขอชดเชยต้นทุนอีกตันละ 1.5 พันบาท
นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ว่า มีการใช้เงินจริง 6.66 แสนล้านบาท โดยปีก่อนใช้ไป 3.27 แสนล้านบาท และปีนี้ใช้ไปแล้ว 3.39 แสนล้านบาท ซึ่งเกินกว่ากรอบวงเงินที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาทจริง โดย ธ.ก.ส.มีการสำรองจ่ายไปก่อนประมาณแสนกว่าล้านบาท และจะได้รับคืนเมื่อกระทรวงพาณิชย์มีการขายข้าวออกไป โดยล่าสุด มีการนำส่งเข้ามาแล้ว 1.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขายข้าวจะทำได้ล่าช้า แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าหลังจากนี้จะทยอยนำส่งเงินให้ ธ.ก.ส.ได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปีนี้น่าจะได้รับเข้ามาอีก 6 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2 แสนล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และทำให้สิ้นปีวงเงินใช้ในการรับจำนำข้าวลงไปอยู่ในกรอบที่ 5 แสนล้านบาท ส่วนการรับจำนำข้าวนาปรังขณะนี้ยืนยันว่าหลังจากวันที่ 15 ก.ย.นี้ จะไม่มีการรับข้าว หรือจ่ายเงินอย่างแน่นอน ถือว่าปิดโครงการ และตัดยอดปริมาณข้าวที่ 22 ล้านตัน ใช้เงินไม่เกิน 3.45 แสนล้านบาทเท่านั้น
“การขายข้าวที่มีปัญหาน่าจะเป็นส่วนของข้าวขาวในโกดังที่ส่วนใหญ่รับเข้ามาจากพื้นที่เพาะปลูกภาคกลางที่ทำนาปีละ 2 ครั้ง และเก็บไว้คุณภาพอาจจะด้อยลง กระทรวงพาณิชย์ จึงหันไปขายข้าวเปลือกเพื่อทำข้าวนึ่งแทน แต่ข้าวหอมมะลิที่อยู่ในความดูแลขอ งธ.ก.ส.ประมาณ 2 แสนตันน่าจะขายได้” นายบุญไทยกล่าว
สำหรับการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 56/57 ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น เดิมเกษตรกรรับข้อเสนอในการกำหนดราคารับจำนำที่ตันละ 1.2 หมื่นบาทแล้ว แต่ขอให้รัฐจ่ายชดเชยค่าต้นทุนการผลิตอีกตันละ 1.5 พันบาทต่อตัน ซึ่งที่ประชุมก็รับจะพิจารณาให้ ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้ 1.35 หมื่นบาทต่อตัน แต่ฝ่ายนโยบายเห็นว่ายังเป็นต้นทุนของภาครัฐในการทำโครงการที่สูงเกินไปจึงให้ไปทบทวนใหม่ซึ่งคงต้องเอาเข้าที่ประชุมอีกครั้งในเร็วๆ นี้
นายบุญไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเพราะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ และทำให้ราคาต้นทุนข้าวที่จำนำลดลงไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับตลาด เพราะหากรับจำนำจริงต้องมีการหักค่าความชื้นก็อาจจะอยู่ที่ตันละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น ทำให้การระบายข้าวในอนาคตจะสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นๆ ได้ อีกทั้งโดยรวมยังทำให้รัฐใช้เงินในโครงการลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม หากในการประชุมครั้งหน้าคงต้องดูแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเพราะหากไม่จ่ายชดชยต้นทุนการผลิตให้ทางฝ่ายเกษตรกรคงไม่ยอม แต่หากต้องจ่ายเพิ่มให้ก็ต้องไปคุมเข้มการลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกด้วย อีกทั้งการจำกัดจำนวนไว้ที่รายละ 5 แสนบาทนั้น จริงๆ แล้วมีการนำข้าวมาเข้าโครงการจำนำประมาณ 3.5 แสนบาทเท่านั้น หากสามารถกำหนดกรอบไว้ที่ 3.5 แสนบาทต่อรายได้ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการสวมสิทธิได้อีกทางหนึ่ง แต่การลดวงเงินลงมาอาจทำให้เกษตรกรที่ทำนาได้ปีละ 2 ครั้งไม่ยอม