“อธิบดีสรรพากร” สั่งเร่งรื้อระเบียบการคืนภาษี ยอมรับมีช่องโหว่เพียบ และเป็นปัญหาที่ปล่อยสะสมเรื้อรังมานานแล้ว แต่การใช้มาตรการคุมเข้มทั้งระบบอาจกระทบให้เกิดขั้นตอนความยุ่งยากเพื่อให้เอกชน พร้อมแฉประเด็จที่จุดขึ้นเพราะจะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระดับซี 10 ของกระทรวงการคลัง และมีธงในการเล่นงานกรมสรรพากร เพราะการป้องกันทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเช็กข้อมูลจากกรมศุลกากรด้วย
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่าระเบียบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของกรมสรรพากรยังมีช่องโหว่ จึงทำให้มีผู้หาช่องทางเพื่อหาประโยชน์ด้วยการใช้ความรู้ทำการทุจริต เช่น ตั้งบริษัทขึ้นมาเพียง 1 ปี ยอมทำตามกฎเกณฑ์ในช่วงแรก จากนั้นจะเริ่มทุจริตการคืนภาษีในช่วงหลัง และปิดบริษัทหนีหายไป แม้จะมีการแก้ไขมาตลอด ดังนั้น จึงสั่งการให้ทุกฝ่ายนำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในทุกด้านมาสังคายนาครั้งใหญ่ร่วมกัน เพื่อแก้ไขระเบียบในปัจจุบันหวังอุดช่องโหว่ให้มากที่สุด
ส่วนการใช้ดุลพินิจยังคงมีความสำคัญในการพิจารณา เพราะเป็นแนวทางที่ใช้กับกฎหมายทุกฉบับ โดยเจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจด้วยธรรมาภิบาล ขณะที่การแก้ไขระดับกรมไม่ต้องเสนอกระทรวงพิจารณา เรื่องดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นจึงต้องเร่งดำเนินการ เพราะปัญหาทุจริตคืนภาษีเกิดขึ้นมานานหลายปี อีกด้านหนึ่งต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนเพื่อความรวดเร็วในการซื้อขาย ดังนั้น หากตรวจสอบครบทุกขั้นตอน โดยกลุ่มมิจฉาชีพทำตามทุกขั้นตอนก็ต้องคืนภาษีให้ แต่หากระเบียบรัดกุมมากจะไม่มีใครกล้าทำงาน เพราะกลัวความผิด จึงต้องแบ่งความเสี่ยงของประเภทธุรกิจ โดยต้องไม่กระทบต่อภาคเอกชนคนดีในการทำธุรกิจ
นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ลงนามส่งหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) วันนี้ (23 ส.ค.) เพื่อให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ทำงานร่วมกันในการตรวจสอบการทุตริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่าหลายพันล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีอำนาจแต่ละหน่วยงาน โดยกรมสรรพากรจะตรวจเอกสารข้อมูลภาษี ส่วน ปปง.มีอำนาจในการตรวจเส้นทางการเงิน การอายัด การระงับความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว การเชิญบุคคลภายนอกมาให้ข้อมูล หากร่วมมือกันได้จะทำให้การป้องกัน และปราบปรามการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมสรรพากรไม่ยอมส่งเอกสารเพื่อนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ทำหนังสือมานั้น ตามกฎหมายมาตรา 10 ของกรมสรรพากร มีข้อกำหนดห้ามส่งข้อมูลภาษีไปให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หากมีความผิดโทษจำคุก โดยที่ผ่านมา ได้ส่งเอกสารไปให้ปลัดกระทรวงโดยตลอด จำนวน 20 ราย ซึ่งต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร และหากปลัดกระทรวงส่งต่อไปให้บุคคลอื่นจึงต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าข้อมูลที่ขอมาจำนวนมากนับเป็นหมื่นหน้า โดยขอข้อมูลการเสียภาษีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใน 3 วัน จึงไม่สามารถส่งเอกสารให้ได้ทัน ดังนั้น ข้อมูลการเสียภาษีจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ สำหรับการส่งเอกสารเป็นการส่งให้เหมือนกับดีเอสไอ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการตามจับกุมกลุ่มผู้โกงภาษี หากข้อมูลรั่วออกไปภายนอกจะทำให้การติดตามจับกุมลำบากขึ้น
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะจะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระดับซี 10 ของกระทรวงการคลัง และมีธงในการเล่นงานกรมสรรพากร เพราะการป้องกันทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเช็กข้อมูลจากกรมศุลกากรด้วย ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือสอบถามกรมศุลกากรไปแล้ว แต่ตอบกลับมาว่าสินค้าที่ส่งออกไปมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท ทำไมตรวจไม่เจอสินค้าว่าส่งออกจริง เมื่อมีเอกสารตอบกลับมาว่าส่งออกจริง กรมสรรพากรจึงต้องคืนภาษีให้เอกชนที่ขอคืนมา ดังนั้น จึงต้องทำงานร่วมกันทั้งกรมสรรพากร และศุลกากร