xs
xsm
sm
md
lg

โกงแวตลามกรมศุลฯสรรพากรจี้คลังสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สรรพากรพื้นที่บางรักยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมหลังคลังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเท็จมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท งงทำไมต้องตั้งกรรมการสอบซ้ำซ้อนกับดีเอสไอและเพราะเหตุใดไม่ไปสอบต้นทางที่กรมศุลกากรด้วย

วานนี้ (24 ก.ค.) เวลาประมาณ 10.30 น. ที่กระทรวงการคลัง นายศุภกิจ ริยะการ ผู้อำนวยการ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (บางรัก) เปิดเผยว่า ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท็จ ให้กับบริษัทส่งออกกว่า 30 บริษัท มูลค่ารวม 3 พันกว่าล้านบาท เพื่อขอความเป็นธรรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาตนได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลมาโดยตลอด ทั้งการให้ปากคำต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ การชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมสรรพากร
“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมในระดับกระทรวงต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง และทำไมไม่ไปตรวจค้นที่ต้นทางที่กรมศุลกากร เพราะสรรพากรจะคืน VAT ให้กับผู้ประกอบการตามเอกสารหลักฐานที่ยื่นเสนอมา หากจะผิดก็ต้องไปดูที่ต้นทาง เพราะหน้าของสรรพากรเมื่อจะคืนภาษีต้องไปดูสถานที่ประกอบการ ซึ่งตอนไปตรวจก็มีจริงหรือกรณีบ้านเลขที่ที่มีผู้ถือหุ้นอยู่มาก ก็เป็นเรื่องปกติ ที่มี 500 - 600 บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นโยงกันไปมา รวมถึงการมีสถานที่ประกอบการซ้ำกัน เพราะเป็นเรื่องของการบริหารทางบัญชี จะไปตรวจแค่นั้นและบอกว่าทุจริตก็คงไม่ได้” นายศุภกิจกล่าว
นายศุภกิจกล่าวว่า การจะตรวจสอบต่อว่า มีการทุจริตการส่งออก ด้วยการสำแดงราคาแพงเกินจริง เพื่อขอคืน VATสูงๆ นั้น ก็ไม่ใช่หน้าที่ของสรรพากร สรรพากรจะทำหน้าที่ตรวจสอบระหว่างภาษีซื้อและภาษีขายให้ได้กำไร หรือว่าส่วนต่างจากราคาซื้อกับราคาขายเท่านั้น เพราะคงไม่มีใครยอมขายขาดทุนแน่ เมื่อจับชนกันแล้วจึงจะคืน VAT ให้ ส่วนพิกัดอัตราภาษีว่า ส่งออกอิเลคทรอนิกส์หรือส่งออกเหล็ก จะเป็นอัตราภาษีเท่าใด รวมถึงว่า มีการส่งออกจริงหรือไม่ ตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกเป็นของใคร ก็เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากร หากเอกสารทุกอย่างครบ และส่งมายังกรมสรรพากร ตรวจแล้วไม่มีอะไรก็ต้องคืน VAT ไป
สำหรับกรณีที่มีข้อถกเกียงกันว่าเป็นการคืน VAT ให้กับบริษัทจดทะเบียนใหม่ภายใน 1 เดือน นายศุภกิจกล่าวว่า การจะคืน VAT ให้ภายใน 3 เดือนหรือ 6 เดือนไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบมาตรฐานกลาง เพราะตามเงื่อนไขต่างๆ แต่สุดท้ายของระเบียบก็จะกำหนดให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อผู้ส่งออกยื่นเอกสารมาครบ ก็ต้องเร่งคืนให้อยู่แล้ว เพราะผู้ประกอบการเองก็ต้องการสภาพคล่องในการบริหารงานด้วย แต่ระเบียบดังกล่าวก็อยู่ระหว่างการแก้ไขโดยสำนักงานบริการกลางอยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น