“ประสาร” เผยบาทอ่อนค่าเป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ ยังไม่น่ากังวล เพราะไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดครึ่งปีแรกไม่มาก และไม่รุนแรงเหมือนอินโดฯ และที่สำคัญไทยไม่ต้องใช้เงินเข้าไปอุดหนุนเรื่องพลังงานมากเหมือนกับอินโดฯ “สแตนชาร์ด” เตือนปัจจัยเสี่ยงเงินไหลออกซ้ำรอยอินโดฯ คาดในไตรมาส 3 มีโอกาสร่วงแตะ 32 บาท/ดอลลาร์
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากในวันนี้แตะที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง อาจจะมาจากการรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/56 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แต่โดยรวมแล้วมองว่าค่าเงินบาทยังไม่มีประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากยังเคลื่อนไหวสอดคล้องพื้นฐาน
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/56 ที่สภาพัฒน์ระบุว่า ติดลบต่อเนื่องเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส จากไตรมาส 1/56 นั้น นายประสาร กล่าวว่า ถือว่าเป็นภาวะถดถอยทางเทคนิค เป็นนิยามทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปกติการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจจะต้องมีการคำนวณใหม่ว่าเทียบกับฐานปกติหรือไม่ แต่ถ้าเทียบกับฐานที่ไม่เป็นปกติ ก็จะพบว่าไม่ใช่ตัวเลขติดลบ ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจก็จะต้องปรับกลับมา
“ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 55 และติดลบต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ เพราะไตรมาส 4 ปี 55 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 54 ถือว่าขยายตัวสูงมาก เนื่องจากปี 54 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงทำให้ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวสูงผิดปกติ ดังนั้น จึงเป็นปกติที่ไตรมาส 1 ปีนี้เทียบกับไตรมาส 4 ปี 55 จึงติดลบ และกระทบถึงไตรมาส 2” นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดปัญหาเหมือนกรณีของอินโดนีเซีย เพราะไทยยังมีนโยบายมหภาคที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งยังไม่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงเหมือนอินโดนีเซีย ซึ่งตามคาดการณ์ของสำนักต่างๆ ประเมินว่าปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล จากครึ่งปีแรกอาจขาดดุลบ้าง แต่ถือว่าไม่มากและไม่ได้เป็นปัญหา คิดเป็นประมาณไม่ถึง 1% ของจีดีพี และที่สำคัญไทยไม่ต้องใช้เงินเข้าไปอุดหนุนเรื่องพลังงานมากเหมือนอินโดนีเซีย
น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) ยอมรับว่า การที่ตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ถือว่าถดถอย แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นการชะลอตัวชั่วคราว เพราะถ้าเทียบเดียวกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2 หลักถือว่าสูงมาก และการชะลอตัวในครั้งนี้ถือว่ากำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยน โดยเชื่อว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับ 5% ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่องได้
น.ส.อุสรา ยังเตือนให้ระมัดระวังแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าลง โดยล่าสุด ค่าเงินบาทในช่วงเช้าอ่อนค่าแตะ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากความกังวลปัญหาเงินไหลออกในอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน และเชื่อว่าในช่้วงไตรมาส 3 อาจเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์