สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เศรษฐกิจไทยกลับมารุ่งในปีนี้ ยืนเป้าเติบโตถึง 6% ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองนิ่ง การลงทุนขับเคลื่อนได้ตามแผน ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน ต่างประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงมากช่วยหนุน ส่วนส่งออก บริโภคเอกชนแค่กระเตื้อง ด้านดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีแรกทรงตัว แต่ครึ่งปีหลังมีโอกาสขึ้น ส่วนเงินบาทแนวโน้มแข็งค่าจากเงินไหลเข้าคาดที่ 32.50
น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 6% จากฐานกาขยายตัวในปีก่อนที่ต่ำ และการมีรัฐบาลที่สามารถดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งหากรัฐบาลคงเสถียรภาพทางการเมืองแ ละสามารถผลักดันโครงการต่างๆ และการเบิกจ่ายไปได้ต่อเนื่องก็จะมีปััจจัยแวดล้อมที่จะส่งให้จีดีพีโตได้ตามที่ธนาคารตั้งเป้าไว้
ปัจจัยหลักที่จะช่วยส่งจีดีพีเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นำโดยประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ถูกกดไว้ด้วยปัญหาทางการเมืองมานาน ก็น่าจะมีการลงทุนเพิ่มในระดับหนึ่ง เพื่อรองรับทั้งการบริโภคที่จะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขยายไปสู่เออีซี และเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งเป็นที่เหมาะสมจากราคาน้ำมัน และดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยคาดว่าการลงทุนจะเติบโตได้ถึง 11%
และราคาน้ำมันที่ลดลงก็จะเป็นปัจจัยบวกให้แก่ไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ทั้งในด้านต้นทุนการผลิต และทางด้านการบริโภค ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการลดลงของราคารน้ำมันลดลง 10% มีผลบวกต่อจีดีพี 0.2%
“ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ในปี 1986 ลดลง 67% ในปีถัดมา เศรษฐกิจไทยโต 9.5% จากปีก่อนที่โต 5.5% โดยไม่ได้มีปัจจัยบวกอื่นๆ เป็นพิเศษเกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกนี้น่าจะกำลังกลับมาให้ผลดีต่อเราอีกครั้ง”
ส่วนการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนจะกระเตื้องขึ้นบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้ประมาณ 4% และการบริโภคค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยภาคการลงทุนจะมาเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทยแทนการส่งออกไประยะหนึ่ง
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีนั้น ธปท. น่าจะอยู่ในช่วงของการจับตาดูปัจจัยต่างๆ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้ดีตามคาดการณ์ไว้ ในครึ่งปีหลังก็อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเป็นการปรับสมดุล เนื่องจากดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และคาดว่าปลายปีดอกเบี้ยน่าจะอยูที่ 2.50%
และค่าเงินบาทนั้นคาดว่าจะอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น จากเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจากการถอนมาตรการ QE ของสหรัฐฯ นั้น จะมีการปรับสมดุลในตัวเองจาก QE ของทางฝั่งยุโรปที่จะออกมา โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นแตะ 32.50 บาทในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 6% โดยคาดว่าไตรมาสแรกโต 4% ไตรมาส 2โต 5% และมากกว่า 6% ในครึ่งปีหลัง