ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดวอลุ่มเทรดช่วงที่เหลือปี 56 หดตัวเหลือ 3.8 หมื่นล้านบาท/วัน จาก 7 เดือนก่อนแตะระดับ 4.4 หมื่นล้าน/วัน เหตุนักลงทุนชะลอลงทุนรอความชัดเจนมาตรการ QE ชี้หากมีการถอนเงินลงทุนจะทำวอลุ่มบางส่วนหาย แต่โดยรวมคาดเป็นไปตามเป้า 4.9 ล้านบาท พร้อมยอมรับอาจส่งผลบาง บจ.ใหม่เลื่อนเทรด ส่วน ก.ค. ดัชนีลดลง 1.98% วอลุ่มเทรดอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้าน/วัน
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปี 2556 จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท/วัน จากช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระดับ 4.4-4.6 หมื่นล้านบาท/วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเฉลี่ยทั้งปีเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ ตลท.คาดการณ์ไว้ในระดับ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท/วันแน่
โดยสาเหตุจะมาจากปัจจัยลบทั้งภายใน และนอกประเทศ ได้แก่การชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพื่อรอดูความชัดเจนของการปรับนโยบายการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเชื่อว่าจะมีการยุติมาตรการ หรือลดวงเงินในการซื้อพันธบัตร และจะทำให้เม็ดเงินจากภายนอกบางส่วนหายไปจากตลาดหุ้น รวมถึงเม็ดเงินบางส่วนของนักลงทุนรายย่อยด้วย
ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยก็มีผลต่อปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเดือน ก.ค.พบว่า การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของไทยลดลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาเพิ่มความกังวลต่อนักลงทุนด้วย
“แม้การลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทจะเพิ่มขึ้นร่วม 1 เท่าตัวจากปี 2555 แต่ช่วงที่เหลือนักลงทุนต่างชาติอาจจะชะลอลงทุน เพราะส.ค.เป็นช่วงหยุดพักร้อน อีกทั้งจะมีการ wait & see ของสถานการณ์ในประเทศ และเรื่องมาตรการ QE จนมีผลให้ปริมาณซื้อขายลดลง แต่ที่สำคัญต้องติดตามนักลงทุนทั่วไปที่ปริมาณการซื้อขายลดลง ส่วนตัวมองว่าเกิดจากข่าว หรือปัจจัยที่กระตุ้นหุ้นในกลุ่ม non-Set100 ลดลง และรับรู้ไปมากแล้ว ทำให้ความน่าสนใจลงทุนในหุ้นเหล่านี้ลดลงไป และตอนนี้เริ่มกลับมาเป็น activity ของหุ้นกลุ่มใหญ่ๆ มาก โดยข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่า เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนไม่หวือหวา หรือร้อนแรงไปเพียงบางกลุ่มอย่างเช่นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา” ดร.ภากร กล่าว
นอกจากนี้ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับว่า จากภาวะการซื้อขายที่ลดความร้อนแรงลงจะส่งผลต่อการเข้ามาระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่ด้วย ซึ่งอาจทำให้บางบริษัทเลื่อนการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไป หรือเลื่อนการเพิ่มทุนออกไปโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม เพราะจากการสังเกตุข้อมูลพบว่า มีการปรับตัวลดลงในข้อมูลด้านต่างๆ มากจนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
“ต่อจากนี้บริษัทใหม่ต้องดูกันด้วยศักยภาพธุรกิจว่าแข็งแกร่งแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้การเข้าซื้อขายในตลาดหุ้เนได้รับการตอบรับไปตามเนื้อผ้า ถ้าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพดี และแข็งแกร่งก็จะไม่กังวลต่อภาวะตลาด โดยในเดือน ส.ค.ก็ยังมีหุ้นใหม่เข้าตลาดอยู่”
ขณะเดียวกัน ดร.ภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพิจารณาคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายตรงตามมาตรฐานการนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI พบว่า ตอนนี้มีประมาณ 10 บริษัทใน SET ที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม คงต้องขึ้นอยู่กับ MSCI ในการเป็นพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ามาคำนวณในดัชนี
สำหรับภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนก.ค.2556 ภาพรวมดัชนีเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค จากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน และชะลอตัว การฟื้นตัวของประเทศขนาดใหญ่ยังไม่แน่นอน โดย SET Index ปิดที่ 1,423.14 จุด ลดลง 1.98% จากสิ้นเดือน มิ.ย. แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2555 ขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 45,942 ล้านบาท ลดลง 27.15% จากเดือนก่อน และนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 603 ล้านบาท
ส่วน Market capitalization พบว่าลดลงตามดัชนีมาอยู่ที่ 12,354,543 ล้านบาท ขณะที่ mai เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ อยู่ที่ 178,788 ล้านบาท และ Forward P/E ratio ของ SET อยู่ที่ 13.48 เท่า ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 13.39 เท่า ขณะที่ mai อยู่ที่ 16.18 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นไปสูง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย