xs
xsm
sm
md
lg

“จรัมพร” เผย 4 หุ้น INTUCH-HMPRO-MINT-TRUE ถูกเลือกคำนวณดัชนี MSCI ดีเดย์ 1 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรัมพร โชติกเสถียร
“จรัมพร” เผย MSCI เพิ่ม 4 หุ้นไทย “INTUCH-HMPRO-MINT-TRUE” ในการคำนวณดัชนี MSCI ผลักดันผู้ลงทุนต่างประเทศเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ดีเดย์ 1 มิ.ย.56

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการทบทวนและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI โดยบริษัท MSCI Barra เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ได้ประกาศรายชื่อหุ้นไทย 4 หลักทรัพย์เพิ่มเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard Indices และไม่มีหุ้นที่ถูกคัดออก โดยทั้ง 4 หลักทรัพย์ที่ได้รับคัดเลือกเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มดัชนี SET50 ทั้งหมด และมี market capitalization รวมกัน 641,009 ล้านบาท ได้แก่ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTUCH) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ทั้งนี้ นับตั้งแต่ 1 มิ.ย.2556 เป็นต้นไป จะมีหุ้นไทยที่คำนวณอยู่ในดัชนี MSCI Global Standard Indices รวมจำนวนทั้งสิ้น 26 หลักทรัพย์

“หุ้นไทยที่ถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ลงทุนต่างประเทศสนใจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีขนาดใหญ่ มีคุณภาพ และมีสภาพคล่องมากขึ้น ทั้งนี้ น้ำหนักของหุ้นไทยในดัชนี MSCI All Country Asia ex Japan เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา” นายจรัมพรกล่าว

ดัชนี MSCI หรือ MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้ลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้วัดการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนี MSCI แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีระดับภูมิภาคหรือประเทศ หรือแบ่งตามอุตสาหกรรม ตามประเภทของตลาด หรือตามขนาดของหลักทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัท MSCI Barra ไม่ได้นำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกตัวเข้าไปคำนวณดัชนี แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาในหลายด้าน เช่น มูลค่าตลาดรวม สภาพคล่องการซื้อขาย จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาก เพราะต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปรับพอร์ต หรือเพิ่มการลงทุนตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น