xs
xsm
sm
md
lg

LHBANK ลดเป้าสินเชื่อ-ปล่อยกู้บ้านเรียกเงินดาวน์เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แอลเอชแบงก์” ปรับลดเป้าสินเชื่อเติบโตเหลือ 20-25% จากเดิม 35% ระบุจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ พร้อมคุมเข้มสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป เรียกเงินดาวน์เพิ่ม พร้อมเดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม ตั้งเป้าสิ้นปีมี 106 สาขาเป็นแบงก์็ที่มีสาขาใหญ่สุด

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนิินงานของธนาคารในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 503 ล้านบาท เติบโต 52.8% มีเงินให้สินเชื่อรวม 98,689 ล้านบาท เติบโต 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 1.6% ต่ำกว่าระบบที่อยู่ในระดับ 2.4%

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง การเติบโตของสินเชื่อน่าจะชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าสินเชื่อทั้งปีจะเติบโตได้ 20-25% ลดลงจะเป้าหมายในช่วงต้นปีที่ตั้งไว้ 35% โดยธนาคารจะให้ความระมัดระวังในเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนธนาคารก็จะมีการเรียกเงินดาวน์เพิ่มขึ้นในส่วนของผู้กู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับราคาของบ้าน และความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนสาขา โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 106แห่ง จากปลายปีก่อนที่มีสาขาจำนวน 66 แห่ง และในไตรมาสแรกจะมีจำนวนสาขา 112 แห่ง รวมทั้งจะปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อให้มีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งในปลายปีนี้คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่จะอยู่ในระดับ 46% จากปัจจุบัน 42% สินเชื่อรายย่อย 36% จากปัจจุบัน 34% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 20% จากปัจจุบัน 26%

สำหรับความคืบหน้าในการพันธมิตรของธนาคารนั้น นางศศิธร กล่าวว่า มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นของการเจรจา มีการกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ เท่านั้น จึงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนในขณะนี้

“เท่าที่ดูๆ ก็มีผู้สนใจเข้ามา 3 ราย เป็นสัญชาติเอเชียทั้งหมด แต่เวลาที่เราเจรจาก็ต้องทำทีละราย ซึ่งก็ต้องเลือกที่มีคุณสมบัติหลักๆ คือ เสริมธุรกิจของธนาคารให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีจุดแข็งในส่วนที่เราขาดอยู่ อย่างเรื่องของต่างประเทศ ดังนั้น พันธมิตรที่เข้ามาก็ควรเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลแบงก์ เป็นต้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น