xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์เผยหนี้ครัวเรือนพุ่งกระทบสินเชื่อ จับตาคอนโดฯ กลาง-ล่าง เริ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแบงก์ยอมรับหนี้ครัวเรือนพุ่ง กระทบกู้ซื้อบ้านได้ยากขึ้น หากมีภาระผ่อนอย่างอื่น ต้องมีผู้กู้ร่วมคนที่ 2 และ 3 พร้อมมองอสังหาฯ ยังไม่เกิดฟองสบู่ แต่ห่วงคอนโดฯ ระดับกลาง-ล่าง เริ่มมีความเสี่ยง อุปทานส่อล้นตลาด

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบางส่วนมาจากการกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์คันแรก มีผลกระทบต่อผู้กู้ซื้อบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่กู้ซื้อบ้านในระดับราคาประมาณ 1 ล้านบาท เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสืนเชื่อบ้านไม่เกินร้อยละ 40 ของรายได้ ซึ่งหากกู้ซื้อบ้านในวงเงิน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องผ่านชำระ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี

ดังนั้น หากผู้กู้ซื้อรถยนต์คันแรกด้วย อัตราการผ่อนชำระ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน จะทำให้มีรายได้ไม่พอต่อการชำระ และแบงก์จะไม่อนุมัติสินเชื่อให้ ซึ่งอาจจะต้องมีการใช้ผู้กู้ร่วมคนที่ 2 และ 3 โดยขึ้นอยู่กับความสามารถชำระหนี้ของแต่ละบุคคลด้วย ทั้งนี้ การที่ธนาคารควบคุมหลักเกณฑ์สินเชื่อดังกล่าวก็เพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณร้อยละ 2 ขณะที่เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 1.4

ส่วนแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโต เนื่องจากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการทำสถิติใหม่ หลังจากที่คอนโดฯ เริ่มทยอยสร้างเสร็จหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าโตร้อยละ 8 ยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่สินเชื่ออสังหาฯ ของธนาคารกสิกรไทย คาดว่าจะโตร้อยละ 5-8 ยอดสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อสิ้นเดือน พ.ค.2556 ที่มียอดสินเชื่อใหม่ 17,3000 ล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อรวมในปีนี้อยู่ที่ 223,000 ล้านบาท จากสิ้นเดือน พ.ค. อยู่ที่ 215,000 ล้านบาท

นายปกรณ์ กล่าวด้วยว่า ตลาดอสังหาฯ ยังไม่เกิดปัญหาฟองสบู่ เนื่องจากจำนวนบ้าน คอนโดฯ คงค้าง ณ สิ้นปี 2555 มีเหลืออยู่เพียง 129,000 ยูนิต ลดลงประมาณร้อยละ 4 จากสิ้นปี 2554 และสินเชื่ออสังหาต่อจีดีพีของไทยมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 19-20 หากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30-50

ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3-6 ยกเว้นที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าที่ขยับเพิ่มร้อยละ 10 โดยคอนโดมิเนียมหรูยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูง แต่ยังคงต้องจับตามองคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่าง ที่เริ่มมีความเสี่ยงเพราะปริมาณมีจำนวนมากหลายสาเหตุ เพราะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลับมาก่อสร้างหลังจากที่หยุด และชะลอโครงการในช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น