xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ชี้ต้นเหตุ ศก.ไทยฟื้นตัวช้า แนะรัฐพัฒนา 4 ด้าน สร้างความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ ศก.โลกฟื้นตัวช้า ส่งผลกระทบ ศก.ไทยฟื้นช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แนะรัฐพัฒนา 4 ด้าน สร้างความยั่งยืน ศก.ระยะยาว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รวมถึงที่ ธปท. เคยคาดไว้ และเมื่อประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงตามการบริโภค และการลงทุนที่พักฐานหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ธปท. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.2

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ทั้งจากปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ จากการที่ทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว หากมีการติดตามประเมินสถานการณ์ และมีมาตรการเตรียมรับมือที่เหมาะสม และรอบด้านเพียงพอก็อาจจะช่วยให้เราสามารถลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่างๆ ได้

แต่สำหรับในระยะยาว ยังต้องสามารถอาศัยจุดแข็งที่มีทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน คือ จะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้า หรือบริการใหม่ๆ ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีมูลค่าเพิ่มสูง และเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยจะต้องเร่งผลักดันนโยบายที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคน ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านตลาดแรงงาน

ด้านแรกคือ การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพราะปัจจุบันต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของไทยยังค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 15 ของ GDP หากทางการสามารถเร่งผลักดันให้ระบบการขนส่งมวลชนของประเทศมีโครงข่ายเชื่อมโยงที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ประเทศในหลายด้าน โดยหากสามารถทำให้โครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ไทยจะสามารถลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของจีดีพี

ด้านที่ 2 คือ การทำให้คนในประเทศมีพัฒนาการด้านสุขภาพ และการศึกษาที่ดี จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษาทั้งทางด้านคุณภาพ และโอกาสในการเข้าถึงของประชาชน

ด้านที่ 3 คือ การสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการลงทุนและศึกษาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจากชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

และด้านสุดท้าย คือ การทำให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันตลาดแรงงานของไทยค่อนข้างตึงตัว ล่าสุด อัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย ความตึงตัวของตลาดแรงงานนี้ถือเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปัญหาความไม่ตรงกันระหว่างความต้องการของนายจ้างกับทักษะของลูกจ้าง ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของคนในด้านการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง จะช่วยให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภาพของแรงงานไทยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีความซับซ้อน และมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น