xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” แนะรัฐแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ประเทศต้องแข็งแรงทั้ง 4 ด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
“ประสาร” แนะรัฐแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างแทนการกระตุ้น ศก.ในระยะสั้น ย้ำประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม และแข็งแรงใน 4 ด้าน ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ สถาบันการเงิน และประชาชน เพื่อฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในภาวะแวดล้อมโลกที่กําลังเปลี่ยนแปลงไป หลังเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย” ในงานประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มออกมาให้สัญญาณว่าอาจจะทยอยถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ภายในปีนี้ ทำให้กระแสเงินทุนกลับทิศทางไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงของจีนมีความเสี่ยงที่จะชะลอตามการส่งออก และการลงทุน ก่อให้เกิดความกังวลในตลาดเงินโลกยิ่งขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาวควบคู่กันไป ที่ผ่านมา เราเห็นนโยบายภาครัฐมุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้ กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจำกัด คือ ไม่ยั่งยืน เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ บิดเบือนกลไกตลาด และไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม และแข็งแรงใน 4 ด้าน ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ สถาบันการเงิน และประชาชน เพื่อฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมโลกที่กําลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งการที่เฟดให้สัญญาณว่า อาจจะทยอยถอนคิวอีภายในปีนี้ และรวมถึงกรณีเศรษฐกิจจีน ก็มีสัญญาณเสี่ยงในภาคธนาคารมากขึ้น

กรณีดังกล่าว ล้วนทำให้บรรยากาศในตลาดเงินเปลี่ยนไปคนละด้าน ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง กระแสเงินทุนมีไหลออกจากภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องส่งเสริมภาคเอกชนแต่ไม่อุ้มชู เพราะที่ผ่านมา เราเห็นนโยบายภาครัฐมุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจํากัด ไม่ยั่งยืน เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ และบิดเบือนกลไกตลาด และไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง

“เหมือนคนที่ถูกอุ้มชูอาจจะได้ความสุขสบาย แต่ขณะเดียวกัน ก็จะอ่อนแอลง เพราะไม่ได้ยืนด้วยกำลังของตัวเอง โดยธรรมชาติร่างกาย และสติปัญญาของคนจะแข็งแรงขึ้นเมื่อได้ใช้งาน การทำนโยบายแบบอุ้มชูจะทำให้ศักยภาพภาคเอกชนล้าหลังในระยะยาว”

ส่วนนโยบายภาครัฐที่ดีสำหรับประเทศไทยเวลานี้ ควรเน้นที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่หลายด้าน ทั้งระบบการขนส่ง และด้านตลาดแรงงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดเป้าหมายร่วมของประเทศ และแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายไม่ควรเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย และแผนการพัฒนาบ่อยจนขาดความต่อเนื่อง ผู้ดำเนินนโยบายควรตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาเข้ามาถึงตัวก่อนจึงจะเปลี่ยนแปลง และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น