ผู้ว่าการ ธปท. ชี้สภาพคล่องจีนตึงตัวไม่กระทบไทย เพราะเป็นความต้องการของ “รบ.จีน” ยันเงินทุนไหล “เข้า-ออก” ยังเป็นปกติ แต่ยังมีจุดที่ต้องระวังคือ คนตั้งความหวังให้การดำเนินนโยบายการเงินแก้ปัญหาหลายอย่างมากเกินไป จากที่เคยทำหน้าที่ดูแลราคา และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แต่ขณะนี้ต้องการให้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้เงินทุนยังไหลเข้า-ออกปกติตามกลไกตลาด และไม่หวือหวาเหมือนบางประเทศที่ประสบความผันผวน เช่น อินโดนีเซีย และบราซิล ที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยืนยันว่าสภาพคล่องในประเทศขณะนี้เพียงพอต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธปท.จะดูดซับไปบางส่วนทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลง
“ตอนนี้สภาพคล่องในไทยเองก็มีเพียงพอต่อการทำธุรกรรมการเงิน และเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งการที่เงินไหลออกไปบ้างก็น่าจะดีในส่วนที่ช่วยลดภาระการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท.ได้บ้าง แม้จะยังต้องดูดอยู่ เพราะ ณ สิ้นวันสภาพคล่องส่วนเกินจากสถาบันการเงินยังไหลเอ่อเข้ามาลงทุนกับ ธปท.แม้จะได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำที่ 2.5% ก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าสภาพคล่องส่วนเกินลดลงบ้าง โดยสภาพคล่อจากเดิมที่ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท ลดลงมาบ้างอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท”
สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ขณะนี้ติดตามอยู่มี 2-3 ประเด็น คือ ความคาดหวังจากการใช้นโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาหลายอย่างมากเกินไป หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ปัจจัยต่างประเทศที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นายประสาร กล่าวว่า เงินไหลทุนที่ออกไปในขณะนี้ยังไม่ถือเป็นความเสี่ยงพิเศษต่อระบบเศรษฐกิจ ธปท.พยายามดูแลรักษาสมดุลในด้านต่างๆ ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลชำระเงิน ดุลการคลัง สินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินให้มีความสมดุล มีความมั่นคงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงถือว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ไม่ได้เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยเฉพาะ ธปท.คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้น่าจะสมดุล หรือเกินดุลเล็กน้อย ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้ ทำให้นักค้าเงินมองไม่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาเก็งกำไรเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ก็ยังมีจุดที่ต้องระวังคือ คนตั้งความหวังให้การดำเนินนโยบายการเงินแก้ปัญหาหลายอย่างมากเกินไป จากที่เคยทำหน้าที่ดูแลราคา และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แต่ขณะนี้ต้องการให้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นมาสูงค่อนข้างเร็ว ทำให้ ธปท.ต้องจับตาคุณภาพของสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และเหตุการณ์ปัจจัยจากนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน และผันผวนอยู่จะเข้ามากระทบบางเวลา ธปท.จึงต้องระมัดระวัง
“วิธีที่ดีที่สุดคือ ดูแลพื้นฐานให้อยู่ในระดับสมดุล และมั่นคง ทั้งดุลชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการคลัง ต้องพยายามรักษาให้ดี สถาบันการเงินก็ต้องดูแลให้มีความมั่นคง การใช้นโยบายการเงินก็ต้องระมัดระวัง เพราะต้องมีความไม่แน่นอนจากตลาดโลกไม่ทำอะไรที่สุดขั้วมากเกินไป เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะได้มีการปรับทิศทางนโยบายได้” นายประสารกล่าว
ส่วนความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบการเงินที่จะตึงมากขึ้นจากปัจจัยของประเทศต่างๆ นายประสาร กล่าวว่า จากที่หลายฝ่ายประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เป็นเพราะทางการจีนต้องการลดความร้อนแรงเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสถาบันต่างๆ ที่ให้บริการทางการเงิน เพื่อรักษาวินัยทางการเงินให้มากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกินความสามารถในการดูแลหรือควบคุม ส่วนที่เป็นห่วงว่าจะมากระทบสภาพคล่องในประเทศนั้น มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีธนาคารจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากเป็นธนาคารที่ใหญ่ระดับโลกจึงไม่น่าเป็นประเด็น
นายประสาร กล่าวว่า แม้ขณะนี้ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องน้อยลง แต่ยืนยันว่าสภาพคล่องยังมีเพียงพอที่จะเอื้อต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ธปท.มีวิธีดูแลสภาพคล่องโดยการดูดซับแบบตั้งรับ โดยเมื่อสิ้นวันทำการ ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำเงินที่เหลือมาฝากกับ ธปท.ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาฝากน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินไหลออกจากประเทศบ้าง แต่ไม่ถือว่าเป็นประเด็น โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องมาเหลือ 4.7 ล้านล้านบาท จากเดิม 4.9 ล้านล้านบาท ขณะที่มีหนี้ต่างประเทศ 1 แสนกว่าล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ