BAM ตั้ง บล.ทรีนีตี้ฯ กสิกรไทย และยูบีเอส เอจี เป็นที่ปรึกษาทางการงาน เดินหน้าเข้าจดทะเบียน ตลท. เต็มตัว คาด 3 เดือนได้ผลสรุปการศึกษาการเข้าระดมทุน ด้าน บล.ทรีนิตี้ เชื่อประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และกำไรที่โดดเด่นส่งผลต่อการตอบรับจากนักลงทุนที่ดี
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) กล่าวว่า บริษัทได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และที่ปรึกษาร่วม ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ยูบีเอส เอจี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นของ BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ได้เดินหน้าสู่กระบวนการการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินจะดำเนินการตามขั้นตอนแรกคือ การจัดทำแผนกลยุทธ์ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน จำนวนหุ้นที่ควรเสนอขาย ระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งผลประโยชน์สูงสุดที่ BAM และผู้ถือหุ้นจะได้รับ ขั้นตอนการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยเห็นว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้ BAM มีความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนโดยไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร และผู้ถือหุ้นในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อ BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว จะเป็นองค์กรถาวรที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันการเงิน โดยทำหน้าที่รับซื้อรับโอน และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า เชื่อว่าด้วยจุดเด่นของ BAM ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการเป็นบริษัทแรกของธุรกิจนี้ (First of its kind) ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ อัตราการทำกำไรที่โดดเด่น ตลอดจนนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มั่นคง จะทำให้หุ้นของ BAM ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
“ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาทางการเงินทั้ง 3 แห่ง ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ครอบคลุมนักลงทุนทุกประเภททั้งใน และต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้การนำหุ้น BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้”
ทั้งนี้ BAM เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นทั้งจำนวน ที่ผ่านมา เป็นเวลา 15 ปี BAM ดำรงบทบาทในการแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยรับซื้อรับโอนทั้ง NPL และ NPA จากสถาบันการเงินต่างๆ มาบริหารจัดการ และมีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้สามารถกลับไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจปกติได้อีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ยังช่วยฟื้นฟูธุรกิจอสังหาฯ ด้วยการพัฒนาปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายที่มีศักยภาพให้มีสภาพดีได้มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของตลาด
ปัจจุบัน BAM มีสินทรัพย์รวม 73,390 ล้านบาท โดยในปี 2555 มีผลเรียกเก็บที่เป็นเงินสดรวมทั้งสิ้น 13,762 ล้านบาท ซึ่งมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ 6,057 ล้านบาท และจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย 7,705 ล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 14.68% ที่ผ่านมา BAM มีผลประกอบการที่ดี สามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา และในปี 2555 มีกำไรสุทธิถึง 3,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.14% เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,935 ล้านบาท