โบรกฯ ชี้แนวโน้มหุ้นไทยฟื้นตัวช้าจากมาตรการ QE ที่หาความแน่นอนไม่ได้ แม้กลุ่ม บจ.จะยังคงทำกำไรได้ดี แต่การปรับลด GDP และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนภาพลบการลงทุน แนะนักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมลงทุนปัจจัยพื้นฐานระยะยาวมั่นคงกว่า จับตา ก.ย. เฟดยกเลิก QE หุ้นไทยอาจร่วงหนักหลุด 1,220 จุด
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงของการปรับฐานและมองหาแหล่งลงทุนในในการทำกำไร แต่โดยรวมยังไม่มีปัจจัยลบที่จะมาส่งผลกระทบ และก็มีสัญญาณที่ดีของการไหลเข้าของเงินในต่อตลาดพันธบัตรของไทยซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของเงินทุนในระยะยาว
ในส่วนของ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้อาจเปลี่ยนแปลงที่ระดับ 1,400-1,570 จุด โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งนั้นมาจากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในประเทศที่ยังคงเติบโต และทำกำไรได้ดีถึง 30% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธนาคารและพลังงาน ถึงแม้ว่าการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลง (GDP) ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากนัก เนื่องจากโครงสร้างการทำธุรกิจจะเป็นไปในลักษณะที่ขนานกันไป ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยขณะนี้ควรพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานทางการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก เนื่องจากผลกำไรในการดำเนินธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ในระดับที่น่าพอใจ และความผันผวนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการไหลออกของเงิน ทำให้บริษัทจดทะเบียนสูญเสียสภาพคล่อง โดยไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศ
ส่วนแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นในครึ่งปีหลัง มองว่านักลงทุนควรเปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นที่พึ่งพิงเงินทุนต่างชาติ มาเป็นการเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของบริษัทจดทะเบียนในประเทศแทน ซึ่งที่ผ่านมา เงินทุนที่ไหลเข้ามาก็ส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก จากค่า P/E ที่สูงขึ้นเกินจริงในระดับที่ 18 เท่า และเมื่อถูกขายทำกำไรออกมา ดัชนีฯ ก็ปรับตัวลดลง พร้อมด้วยค่า P/E ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 12-14 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นค่า P/E ที่สะท้อนภาพรวมหุ้นไทยอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า มุมมองภาพรวมตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มผันผวนแกว่งตัวรุนแรงโดยดัชนีอาจร่วงลงมาต่ำสุดที่ 1,220 จุด และกลับกันอาจปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 1,600 จุดได้ ตามทิศทางตลาดรวมของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นักลงทุนต้องพิจารณาดัชนีหุ้นที่แกว่งตัวผันผวนจากเงินทุนที่ขาดสภาพคล่องในประเทศบราซิล และอเมริกาใต้ และภาคการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่กำลังรอข้อสรุป และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงเดือนกันยายนนี้ว่าจะส่งสัญญาณในการปรับลด หรือยกเลิกมาตรการ QE ก่อนกำหนดหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการปรับลดลงก็จะส่งผลต่อผลตอบแทนการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง แต่ถ้าหากมีความชัดเจนออกมาว่าจะมีการยกเลิก QE ในอนาคตอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ทยอยปรับตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ ดัชนี SET Index อาจปรับตัวลดลงถึง 1,200 จุด เมื่อเฟดปรับลดมาตรการ QE ลงทันที
“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอนาคตตลาดหุ้นไทยหากเป็นไปตามที่คาดไว้ที่เฟดจะยกเลิกมาตรการ QE ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยอาจปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 1,600 จุด ได้เช่นเดิม”