แบงก์กสิกรฯ เดินหน้าสู่ “เอเซียนแบงก์” จับมือหอการค้า-อุตฯ แห่งโตเกียว สนับสนุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นลงทุนในไทย “บัณฑูร” ชี้เศรษฐกิจจีนชะลอ-เบรกสินเชื่อเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ เพื่อความยั่งยืนระยะยาว ยันไม่เบรกปล่อยกู้ตาม แต่คุมเข้มความเสี่ยงเพิ่ม ส่วนกรณีแบงก์ญี่ปุ่นซื้อกรุงศรีฯ สะท้อนทุนเอเชียเข้าทดแทนทุนฝั่งตะวันตก เพิ่มการแข่งขันในระบบแบงก์
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับหอการค้า และอุตสาหกรรมแห่งโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในหอการค้าจังหวัดที่มีขนาดใหญ่สุด มีสมาชิกถึง 80,000 บริษัท และมีสมาชิกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยความร่วมมือนี้จะครอบคลุมทั้ง กิจการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมถึงการให้วงเงินสินเชื่อผ่านความร่วมมือของธนาคารพันธมิตรท้องถิ่นญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ภายในปี 2556 ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายที่จะดำเนินความร่วมมือลักษณะเดียวกันนี้กับหอการค้า และองค์กรในจังหวัดอื่นๆ ของญี่ปุ่นเพิ่มอีก 2-3 จังหวัด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจเข้าลงทุนในไทยอย่างครบวงจรผ่านธนาคารพันธมิตรญี่ปุ่นทั้ง 24 แห่ง เพื่อตอกย้ำการเป็นเอเซียนแบงก์ ของธนาคารกสิกรไทย อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้ากับตัวเลขการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเป็นหลัก แต่จะเน้นการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นระบบการชำระเงิน โอนเงิน หรือที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ คือ จะรวมบริการต่างๆ ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสินเชื่อ โดยจากยอดบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยประมาณ 7,000 บริษัท ใช้บริการของธนาคารประมาณ 4,000 แห่ง
นายบัณฑูรกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากบริษัทใหญ่ๆ ที่ออกมาลงทุนในต่างประเทศแล้ว ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ก็ถูกผลักดันให้ออกมาลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการ ก็คือ เพื่อให้ใกล้กับตลาด และลดต้นทุน โดยเป้าหมายหลักของธนาคารก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้มีความต้องการด้านเงินทุนมากนัก แต่จะต้องการที่ปรึกษา-การจัดการในการดำเนินธุรกิจด้วย เนื่องจากยังใหม่ต่อการออกมาทำธุรกิจนอกประเทศ และธนาคารเองก็มีบริการที่ครบวงจรพร้อมรองรับอยู่แล้ว
เพิ่มความเข้มงวดรับเศรษฐกิจจีนชะลอ
ส่วนกรณีการชะลอัวของเศรษฐกิจจีนนั้น นายบัณฑูรกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่สามารถจัดการได้ การที่ทางการเข้ามาคุมสินเชื่อเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มิฉะนั้นก็จะเกิดฟองสบู่ที่แก้ยากกว่า ซึ่งพอเบรกแรงไป ก็มีหัวทิ่มบ้าง แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ทั้งโครงสร้างเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ที่เข้าเปิดสาขานั้น ก็คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังไม่ถึงกับต้องเบรกสินเชื่อตาม แต่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ตรงนี้จะเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายระบบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารว่าแม่นยำพอหรือไม่
“ทุกประเทศก็มีปัญหาเศรษฐกิจกันทั้งนั้น และทุกประเทศก็กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศตนเองเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างจีนที่ชะลอตัวลงบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จะมีใครที่เศรษฐกิจโตได้ 10% ทุกๆปี ตัวเลขที่ 7% ก็ไม่แย่อะไร”
ชี้ญี่ปุ่นซื้อ BAY แข่งขันคึก
สำหรับกรณีที่ธนาคารธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ: BTMU) จะเข้าซื้อหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ในสัดส่วน 25% นั้น นายบัณฑรูกล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์จริงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของฝั่งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้ทุนทางฝั่งเอเชียเข้ามาแทนที่ ซึ่งก็ไม่ใช่กรณีของธนาคารกรุงศรีกับมิตซูเท่านั้น ทางไอซีบีซีของจีน ก็มาซื้อสินเอเซียเหมือนกัน
“ผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็จะทำให้มีการแข่งขันกันคึกคักขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบต้องมีการปรับตัว พัฒนาตัว ต้องรู้ว่าตัวเองมีอะไรดี หรือไม่มีอะไรดีเพราะอะไร แล้วทำให้สิ่งที่ตัวเองถนัด และมีความพร้อม เหมือนกับกรุงศรีฯ เมื่อมีพันธมิตรใหม่เข้ามา ก็พร้อมที่สู้ในทุกๆ ทางที่มีอยู่เดิม และที่พันธมิตรใหม่ถนัด ในยุคนี้ถ้าใครมัวงุ่มง่ามก็จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”