xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นทุ่ม6หมื่นล้านบาทฮุบBAY25%หุ้นละ39

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ถือฤกษ์ 16 ปีต้มยำกุ้ง (2 ก.ค.) แบงก์ญี่ปุ่นตกลงซื้อหุ้นแบงก์กรุงศรีฯ จากกลุ่มจีอี 1,538 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 39 บาท เป็นเงินไทย 6 หมื่นล้าน ส่งผลญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 25.33% ระบุการเข้าครอบครองไม่เบ็ดเสร็จ เพราะตามแผนเดิมตั้งใจซื้อหุ้นเกิน 49% เหตุ "ตระกูลรัตนรักษ์" ผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวไทยยังไม่ขาย งานนี้กลุ่มจีอีฟันกำไรมากกว่า 3 หมื่นล้าน ด้านราคาหุ้นในตลาดวานนี้ ปิดที่ระดับ 37 บาท

เย็นวานนี้ (2 ก.ค.) นางเจนิส แวน เอ็กเคอเรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้รับแจ้งจากจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) ถึงความตั้งใจของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ: BTMU) ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer : VTO)ในราคา 39 บาทต่อหุ้น

"GECIH ได้ตกลงกับ BTMU ที่จะขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด 25.33% ให้ตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยสมัครใจ โดยกระบวนการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติของหน่วยงานด้านการกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น และผลสำเร็จของเงื่อนไข" นางเจนิสกล่าวและว่า ธนาคารรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับข่าวสำคัญดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

คำเสนอซื้อหุ้นสามัญโดยสมัครใจในราคา 39 บาท มีทั้งสิ้น 6,074,143,747 หุ้น ในส่วนนี้ GECIH จะขายหุ้นสามัญ 1,538,365,000 หุ้น เป็นเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

"ทั้งสองธนาคารจะได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอน BTMU สาขากรุงเทพฯ มายัง BAY อีกด้วย โดยการถ่ายโอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่การดำเนินการตาม VTO เสร็จสิ้น" นางเจนิสกล่าวและว่า การดำเนินการดังกล่าว จะต้องรับอนุมัติหรือผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง รวมการได้รับอนุมัติจาก Financial Services Agency ของประเทศญี่ปุ่นให้ BTMU มีธนาคารเป็นบริษัทย่อย

หลังจากนี้ ธนาคารจะหารือร่วมกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่เรื่องความร่วมมือในอนาคต เชื่อว่าการร่วมเป็นพันธมิตรเชิงยุทธ์ที่ BTMU จะช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำธนาคารในไทยโดยการขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และจะยังคงยึดมั่นในเป้าหมายธุรกิจ การดำเนินกิจการ และการขยายงานตามแผนปี 2556

แฉ BTMU ซื้อ BAY ไม่เบ็ดเสร็จ

แหล่งข่าวธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผยว่า ดีลดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์เดิมของ BTMU ได้เจรจาซื้อหุ้นกับจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) โดยตรง โดยไม่ผ่านธนาคารและตระกูลรัตน์รักษ์ ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 25.33% สัดส่วนหุ้นของ BTMU จึงอยู่ที่ 25.33% ตามสัดส่วนที่ GECIH ประกาศขาย ยกเว้นไปซื้อเพิ่มในตลาดหุ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีให้เห็นธุรกรรมดังกล่าวที่ชัดเจน

"การซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ถึงกับเปลี่ยนเจ้าของ BAY เพียงแต่โครงสร้างผู้ถือหุ้นและอำนาจบริหารเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นต่างชาติ จากสหรัฐฯ เป็นญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งที่ต้องประกาศทั้งๆ ที่ซื้อหุ้นได้แค่ 25% จากที่ตั้งเป้ามากกว่า 49% เพราะมีข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายว่าจะสรุปกันก่อนวันที่ 2 ก.ค."

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเช้าวานนี้ (2 ก.ค.) นางเจนิส แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ว่า ตามที่ปรากฏข่าวบางสื่อเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นของธนาคารโดยผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ โดยขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้การแจ้งจากกลุ่มจีอี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ต่อมาหลังตลาดหลักทรัพย์ปิดนางเจนิสแจ้งตลาดฯ อีกครั้งว่า ทางธนาคารรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับข่าวสำคัญดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2556 นี้

ด้านราคาหุ้น BAY เมื่อวานนี้ เปิดการซื้อขายในภาคเช้าที่ราคา 36.75 บาท ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 37.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 36.50 บาท โดยปิดการซื้อขายในภาคเช้าและบ่ายเท่ากันที่ราคา 37 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 4.23%

ขณะที่ ธปท.โดยนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ยืนยันว่า การขายหุ้นในธนาคารกรุงศรีฯ ของกลุ่มจีอี ไม่ได้เกิดจากกลุ่มจีอีไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในไทย แต่เกิดขึ้นจากความจำเป็นของบริษัทแม่ของจีอีที่ต้องการถือเงินสด หรือต้องการเงินสดเพื่อเข้าไปดูแลฐานะของบริษัทตัวเองในช่วงที่สหรัฐฯ และยุโรปยังมีปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าดีลซื้อขายหุ้น เอกชนสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน และหากความต้องการซื้อหุ้นเกิน 25% ก็ต้องขออนุญาตจาก ธปท. และหากเกิน 49% ก็ต้องขออนุญาตกระทรวงการคลังด้วย นอกจากนี้ หาก BTMU มีสาขากรุงเทพฯ ก็ต้องยุบไปรวมกับ BAY เพื่อเหลือเพียงธนาคารเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มจีอีเข้ามาซื้อหุ้น BAY ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ปี 49 โดยซื้อหุ้นเพิ่มทุน 2 พันล้านหุ้น หรือ 25% จำนวน 1,391 ล้านหุ้น ในราคา 16 บาทต่อหุ้น มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะเพิ่มสัดส่วนหุ้นเป็น 33% ต่อมาในปี 2555 ได้ขายหุ้นออกไป 7% ที่ราคาเฉลี่ย 31 บาท เป็นเงินประมาณ 1 หมื่นล้าน ในภาพรวมกลุ่มจีอีลงทุนไปทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท การขายหุ้นออกไปรวมครั้งนี้จะได้ส่วนต่างมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือทำกำไรมากกว่า 100% ในระยะเวลา 7 ปี

สำหรับ BTMU เป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group: MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ให้บริการทางการเงินครบวงจรด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดราว 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ส่วน BAY ปัจจุบันฐานะแข็งแกร่งติด 1 ใน 5 ธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนธุรกิจหลักจากในอดีตปล่อยกู้สินเชื่อขนาดใหญ่ ปัจจุบันมุ่งบริการทางการเงินเพื่อรายย่อย จนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น