xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! ศก.โลกกระทบไทย สุ่มเสี่ยงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ผลกระทบเฟดเลิก QE ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลามเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยอาจประสบวิกฤตรอบใหม่ ชี้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นดึงเงินออกจากระบบ กระทบการบริโภค-จับจ่ายใช้สอย ชี้ตลาดหุ้นซบกระเทือนจีดีพีและภาระหนี้ของภาคประชาชนแน่ แม้จะไม่รุนแรงเท่าวิกฤตปี 40 ก็ตาม

จากแผนกรณีที่ นายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า เฟดจะเริ่มลดขนาดโครงการรับซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้ และยกเลิกไปเมื่อถึงกลางปีหน้า โดยการรับซื้อพันธบัตรนี้ เป็น 1 ในมาตรการทางการเงินที่เรียกกันว่า “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ” (Quantitative Easing หรือ QE) ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวก่อให้เกิดความหวาดหวั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก โดยตลาดหลักทรัพย์ไทย วานนี้ (20 มิ.ย.) ปิดที่ระดับ 1,402.19 จุด ลบไป 35.51 จุด หรือร้อยละ 2.47 ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ราคาทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯ ก็ขยับลง 4 วันติด ลดลง 87.80 ดอลลาร์ หรือร้อยละ 6.39 ปิดที่ 1,286.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แตะระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเป็นการปรับลดวันเดียวรุนแรงที่สุด

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ซวนเซหนักตามตลาดทุนอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องมาจากแผนปรับลดปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยข่าวร้ายเกี่ยวกับข้อมูลการผลิตจีน ส่งผลให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 353.87 จุด (ร้อยละ 2.34) ปิดที่ 14,758.32 จุด แนสแดค ลดลง 78.57 จุด (ร้อยละ 2.28) ปิดที่ 3,364.63 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 40.74 จุด (ร้อยละ 2.50) ปิดที่ 1,588.19 จุด

จากสถานการณ์เศรษฐกิจข้างต้น รศ.สมเกียรติ โอสถสภา นักเศรษฐศาสตร์และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการ” โดยระบุว่า ในภาพรวมของตลาดหุ้นไทย เบื้องต้น มูลค่าหุ้นลดลงแล้วร่วม 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และบริโภคต่างๆ อยางแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ท่องเที่ยว ภาคการศึกษา ภาคสันทนาการ ฯลฯ

นายสมเกียรติ มองว่า เรื่องแรกที่จะกระทบก็คือ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศจะลดลง เพราะทุกภาคธุรกิจมีความเสี่ยงเนื่องจากอุปสงค์จะลดลงอย่างรวดเร็ว การค้าจะหดตัว ต่อจากนั้นคนรู้สึกว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เครดิตระหว่างบริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทในประเทศ และบริษัทต่างประเทศ

ซึ่งในส่วนแรกนี้จะเชื่อมโยงส่งผลไปถึงการค้าทั้งระบบโลก เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศจะลดลงเยอะ จากราคาหุ้นที่ลดลง ปัจจุบันหายไป 2 ล้านล้านบาท ราคาหุ้นกับทองอาจจะลดลงไปอยู่เหนือกว่าระดับก่อนมี QE เล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นไทยต้องแข่งขันตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ยุโรปอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) อยู่ที่เพียงแค่ 4 เท่านั้น

“โลกก็ขาดกำลังซื้อเหมือนกัน การค้าระหว่างประเทศจะหดตัวทั้งปริมาณ และราคา กระเทือนรายได้ของทุกกลุ่มแหละครับ เพราะเชื่อมโยงกันหมด นอกจากนี้ จะเกิดความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนมาก ช่วงนี้การเก็งกำไรทำงานเต็มที่ คนไม่อยากทำงาน อยากได้เงินเท่านั้น เมื่อวานทองเปลี่ยนราคาตั้ง 15 ครั้ง ขณะเดียวกัน คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวเร็วมากเพราะความเสี่ยงสูง แผนการลงทุนบริษัทต่างๆ ต้องปรับแผนกันใหญ่ ส่วนโครงการลงทุนที่เคยประกาศไว้จะเลิกกันมากทีเดียว” นายสมเกียรติวิเคราะห์ และว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยอยู่ที่ราว 10 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นมีเงินอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เมื่อตลาดหุ้นซบเซาลงอย่างหนัก จีดีพีย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ในส่วนปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐฏิจจากภาครัฐ นายสมเกียรติ มองว่า เนื่องจากใช้เงินกระตุ้น และอุดหนุนเศรษฐกิจตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 (ค.ศ.2008) ทำให้ฐานะการคลังของทุกประเทศทั่วโลกย่ำแย่กันหมด หากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เกิดล้มขึ้นมาประเทศหนึ่งก็อาจจะลามเป็นวิกฤตคล้ายปี 2540 ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ต่างก็มีโอกาสทั้งนั้น ส่วนประเทศผู้ส่งออกพลังงานทั้งหลายก็จะประสบปัญหา เพราะราคาพลังงานจะปรับลดลงมาก

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สิ่งที่ตนกังวลมากก็คือ ภาระหนี้ของภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเรื่องหนี้มาก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ซึ่งหากเกิดวิกฤตขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้เหมือนเงินไหลออกจากระบบ ความเสี่ยงของธนาคารก็จะเพิ่มขึ้น ต้นทุนก็ต้องเพิ่มขึ้นเพราะธนาคารต้องตั้งสำรองสูงกว่าปกติ ดังนั้น จากที่ผ่านๆ มา มีการปล่อยหนี้ภาคประชาชนเยอะมาก ทั้งหนี้บัตรเดรดิต สินเชื่อภาคประชาชน สินเชื่อเอสเอ็มอี ถ้าบริษัทหนึ่งๆ มีปัญหาก็จะเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่กันไปหมด รัฐบาลในปัจจุบันต้องรีบเข้าไปแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่น่าจะร้ายแรงเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 เนื่องจากวิกฤตในปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีเงินสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่เลย ขณะที่ค่าเงินบาทในเวลานั้นก็หล่นเท่าตัวจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ระดับ 50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ในปัจจุบัน ธปท.มีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งก็น่าจะทำให้สามารถรักษาระดับค่าเงินไว้ได้ ทั้งยังจะมีทุนพอที่จะพิมพ์เงินเพิ่มได้อีกด้วย นอกจากนี้ ในภาคเอกชนและประชาชนก็มีความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ และใช้จ่ายกันมากกว่าในอดีต

“ช่วงปี 40 ธุรกิจล้มกันมากเพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เรียกหนี้คืน อัตราดอกเบี้ยสูงมาก ทบต้นแบบบัตรเครดิต ทำให้ธุรกิจล้ม เที่ยวนี้จะเข้มงวด เคร่งรัดมากขื้น ขณะเดียวกัน ในปี 40 คนตกงานมากเพราะปิดกิจการ แต่เที่ยวนี้ออกมาในรูปกำไรลดลง ประคองตัว ประหยัด ระมัดระวัง ซึ่งจะส่งผลถึงปัญหาการหางานทำยากขื้น ตัดค่าใช้จ่าย กลายเป็นเงินฝืด นอกจากนี้ ครั้งก่อนมีปัญหาไม่มีเงินใช้กัน ครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็นมีเงินไม่พอใช้ครับ”
รศ.สมเกียรติ โอสถสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น