“ธีระชัย” แนะจับตาผลกระทบ “ทุนนอก” ไหลออก ภาคธุรกิจอสังหาฯ คิวต่อไป คาดสะเทือนถึงสถาบันการเงิน เผยบทเรียน “บราซิล” ทุนไหลออกทำค่าเงินในประเทศอ่อน ดันเงินเฟ้อพุ่ง ต้องขึ้น ดบ. สูงลิ่วเพื่อสกัด
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” ชี้ถึงสถานการณ์ต่างชาติเทขายหุ้นออก ว่าหากเงินยังไหลออกเรื่อยๆ บาทจะอ่อน และโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับดอกเบี้ยให้ลดลงไปอีกหรือไม่นั้น คงจะมีน้อยทีเดียว แนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น พร้อมแนะรัฐจับตาผลกระทบภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ข้อความดังนี้
ผมเคยเขียนไว้ว่า การที่กระทรวงการคลังได้ปล่อยให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ไม่ได้มีแนวคิดที่จะใช้อำนาจ เพื่อออกมาตรการชะลอเงินไหลเข้าไว้บ้างเลย เอาแต่พยายามกดดัน กนง. ให้ลดดอกเบี้ย
นโยบายดังกล่าวของกระทรวงการคลัง มีเพื่อนสอบถามผมว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต่างชาติจึงขายหุ้น และส่งเงินออก
ที่ผ่านมาหลายปีนับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ สหรัฐฯ ได้พิมพ์เงินออกมามากด้วยมาตรการ QE เงินที่ท่วมในสหรัฐฯ ก็ไหลเข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ค่าเงินแข็ง และดันราคาทรัพย์สินในประเทศเหล่านี้ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์
ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งอาการที่จะฟื้นตัวแบบยั่งยืนแล้ว ต่อไป การพิมพ์เงินดอลลาร์ จึงจะลดลง หากจะมีการปรับดอกเบี้ยสหรัฐก็จะเป็นทิศทางขึ้นเสียแล้ว เงินที่ไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาจึงเริ่มกลับไหลออก
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ ประเทศบราซิล ซึ่งเดิมเงินไหลเข้ามากเสียจนเงินแข็ง ทางการต้องใช้มาตรการเก็บภาษีนักลงทุนต่างประเทศ แต่มาวันนี้เงินกลับไหลออก ทางการบราซิลรีบยกเลิกภาษีดังกล่าว
เงินที่ไหลออกทำให้ค่าเงินของบราซิลกลับอ่อนมาก จนเริ่มดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ล่าสุด ธนาคารกลางของบราซิล ต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 8 เพื่อมิให้เงินเฟ้อซึ่งสูงถึงร้อยละ 6 ต้องบานเบิกออกไป
กรณีบราซิล นอกจากเงินไหลออกตามวัฏจักรปกติแล้ว ปรากฏว่า ยังมีปัญหาที่กระทรวงการคลัง ได้พยายามทำบัญชีของรัฐแบบมั่วตัวเลข เพื่อหลอกชาวบ้านว่ารัฐบาลขาดดุลงบประมาณน้อยกว่าที่เป็นจริง ทำให้เสียเครดิตต่อนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
หันกลับมาดูประเทศไทย เห็นได้ชัดว่า ข้อกังวลเรื่องบาทแข็ง ต่อไปนี้คงจะเบาลง และยิ่งมีการถกเถียงกันในประเทศ เกี่ยวกับภาระของรัฐที่ยังไม่ชัดเจนเสียที ก็ย่อมกระทบความสบายใจของนักลงทุนต่างชาติไม่มากก็น้อย
จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติได้ขายพันธบัตรรัฐบาลที่เดิมลงทุนไว้ออกไปบ้างแล้ว ทำให้ดอกเบี้ยสำหรับอายุยาวสูงขึ้นไปเล็กน้อย
จากนี้ไป ถ้าเงินยังไหลออกเรื่อยๆ บาทจะอ่อน และโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับดอกเบี้ยให้ลดลงไปอีกหรือไม่นั้น คงจะมีน้อยทีเดียว และทั้งนี้ เมื่อใดที่บาทที่อ่อนเริ่มมีผลดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยแทนที่จะเป็นขาลง หรือทรง จะกลับเป็นขาขึ้นเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ เงินที่กลับไหลออกจะมีผลอย่างไรต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์
ผมเคยเขียนไว้ว่า การที่กระทรวงการคลัง ได้ปล่อยให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ไม่ได้มีแนวคิดที่จะใช้อำนาจ เพื่อออกมาตรการชะลอเงินไหลเข้าไว้บ้างเลย เอาแต่พยายามกดดัน กนง. ให้ลดดอกเบี้ย
นโยบายดังกล่าวของกระทรวงการคลัง จึงมีผลทำให้มีโครงการที่สามารถตักตวงเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรเอาออกไปใช้นั้น ทำธุรกิจบูมจนมากเกินไป โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เมื่อเงินเริ่มไหลออก ก็ย่อมจะกระเทือนธุรกิจแบบนี้ ต่อไปนี้จึงควรจะมีการติดตามธุรกิจและโครงการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินให้เป็นที่มั่นใจ