ธนาคารโลก ชี้ กทม.-ปริมณฑล ยังเสี่ยงน้ำท่วม แนะการใช้งบ 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงกระบวนการดำเนินการ และวางแผนอย่างบูรณาการร่วมกันในทุกหน่วยงาน เพื่อป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
นาย Bert Hofman หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงานเรื่องแนวทางนโยบายเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก โดยมองว่า ปัจจุบันเมืองใหญ่ในภูมิภาคในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติสูงขึ้น เนื่องจากขาดการวางแผนจัดการเมืองที่ดี ส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดทั้งที่ภูมิภาคนี้กำลังขยายตัวได้ดี
นาย Abhas Jha ผู้จัดการหน่วยการขนส่ง ตัวเมือง และการจัดการความเสี่ยงจากอุบัติภัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย หลังจากที่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และรัฐบาลได้มีการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด แต่การใช้งบ 3.5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงกระบวนการดำเนินการ และวางแผนอย่างบูรณาการร่วมกันในทุกหน่วยงาน เพราะกรุงเทพมหานคร ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปากแม่น้ำ และมีการขยายตัวของชุมชนเมือง และภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนืิอง รัฐบาลต้องมีการวางแผนการใช้ที่ดิน และวางผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดในการปฏิบัติ
ทั้งนี้ การลงทุนในเรื่องการลดความเสี่ยง และการเตรียมรับมือภัยพิบัติมีความคุ้มค่า ดังนั้น รัฐบาลของแต่ละประเทศควรมีมาตรการทั้งระยะสั้น คือ การลงทุนในระบบพยากรณ์เหตุร้าย และการเตือนภัยของอุตุนิยมวิทยา และส่งเสริมโครงการระดับชุมชนให้มีส่วนร่วมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เช่น ชุมชนบางบัว ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เป็นตัวอย่างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ประสบความสำเร็จ
ส่วนมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาว ควรสร้างความสมดุลระหว่างการลงทุนในโครงสร้างทางวัตถุ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย และควรมีการเตรียมการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลังต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมไปถึงเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การสูญเสียโอกาสจากภัยพิบัติในภูมิภาคนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของอัตราการสูญเสียทั่วโลก ขณะเดียวกัน ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจได้ขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก โดยปี 2554 เป็นปีที่มีมูลค่าความสูญเสียสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา และพบว่าประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกได้รับผลกระทบสูงสุด