xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด”อวย!เค-วอร์เตอร์ สุดยอด รุมอัด 3.5 แสนล.เสี่ยงเกิดมหาอุทกภัยซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(5 มี.ค.56)นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภายใน 2 สัปดาห์จะสามารถชี้แจงทีโออาร์โครงการบริหารจัดการน้ำงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ต่อ 6 กลุ่มบริษัท ที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติ สำหรับที่มีความล่าช้าเพราะในการยกร่างทีโออาร์มีรายละเอียดจำนวนมาก สำหรับผลการเดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้เพื่อเยี่ยมชมผลงานและประสบการณ์บริษัทเค-วอร์เตอร์ ได้เห็นข้อดีของบริษัทดังกล่าวคือ เค-วอเตอร์ออกแบบโครงการขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบเทคโนโลยรสารสนเทศในการควบคุมโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดอย่างทันสมัย เพราะเป็นประเทศที่ประดิษฐ์โทรศัพท์อัจฉริยะหรือสมาร์ทโฟนเป็นประเทศชั้นนำในโลก จึงได้รับความน่าเชื่อถือและหลังจากนี้จะเดินทางเยือนจีนและญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมชมผลงานและประสบการณ์ของบริษัทที่เหลือ 5 กลุ่มบริษัท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใสในการคัดเลือก
อีกด้านมีการจัดเสวนาที่ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นายบัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กำแพงแสน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้งบประมาณกลาง 1.2 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลใช้ในการจัดการน้ำก้อนแรกยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการน้ำออกมา โดยแต่ละถนนสร้างคันกั้นน้ำตัดกันไปมาเหมือนตาข่ายใยแมงมุม ไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งหากเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ขึ้นอีกครั้งก็อาจมั่วเหมือนเดิม
“ขณะที่โครงการ 3.5 แสนล้าน รัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาว่ามีอะไรอยู่แล้วบ้าง สามารถใช้อะไรได้บ้าง แต่กลับเอาจำนวนเงินและรูปแบบการหาบริษัทเข้ามาทำงานเป็นตัวตั้งมากกว่าใช้การบริหารจัดการเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าการให้บริษัทก่อสร้างเข้ามาเสนอแผนบริหารจัดการน้ำจะล้มเหลว” นายบัญชา ระบุ
นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ได้ออกมาค้านก็ไม่ยอมฟัง นักวิชาการออกมาต้านก็ไม่ฟัง แต่จะเดินหน้าทำโดยใช้การเมืองนำเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากถ้าเดินหน้าต่อโดยเลือกไม่ฟังใครอย่างนี้ ผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกับโครงการโฮปเวลล์ หรือโรงพัก 396 แห่ง ที่เป็นซากปรักหักพังอยู่ทุกวันนี้
นายวราวุธ วุฒิวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มก. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องหาคนมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อแก้ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ก่อสร้างโดยไม่มีพื้นฐานข้อมูลอะไรรองรับอย่างในปัจจุบัน
“จริงอยู่ว่าเมืองใหญ่ทุกแห่งในโลกที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ จะต้องมีฝลัดเวย์เพื่อระบายน้ำออก แต่การที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) บอกว่าจะต้องสร้างโดยผ่านทางคลองชัยนาท-ป่าสักนั้น มีการศึกษาหรือข้อมูลสนับสนุนหรือไม่ ว่าทำแล้วจะได้ผลจริง มีค่าใช้จ่ายเท่าไร และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องเคลียร์ก่อนที่จะเริ่มมีแนวคิดก่อสร้างหรือประมูลงาน” นายวราวุธ กล่าว
นายสุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มก. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กบอ.ได้เชิญชวนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) เข้ามาช่วยศึกษา แต่เมื่อไจกาทำรายงานสรุปว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างฟลัดเวย์หรือเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้กว่า 70% กบอ.กลับไม่นำผลศึกษาดังกล่าวมาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น