ประธาน กบอ.นำสื่อตรวจเยี่ยมตึกแดง ชมห้องทำงานและกล่องใส่เอกสารของบริษัทที่ผ่านทีโออาร์โครงการ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน อ้างคัดแล้วเหลือ 37 บริษัท มั่นใจหากโครงการเป็นไปตามแผนจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัดเผยคณะทำงาน 30 คนอ้างกลัวถูกวิ่งเต้น
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้นำผู้สื่อข่าวตรวจเยี่ยมสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) หรือตึกแดง โดยนายปลอดประสพ ได้พาไปเยี่ยมชมห้องทำงานของตน และห้องเก็บเอกสารข้อมูลของบริษัทร่วมทุนที่ผ่านคุณสมบัติตามทีโออาร์ของโครงการ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท จำนวน 1,500 กล่อง เพื่อยืนยันว่าโครงการนี้ทำงานอย่างโปร่งใส และจริงจัง
นายปลอดประสพกล่าวว่า หลังจากเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2554 รัฐบาลต้องการฟื้นฟูทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย รวมถึงมองไปข้างหน้าที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและนานาประเทศ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องบริหารจัดการน้ำ เป็นที่มาของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เกิดจากการวางแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ (กยน.) โดยโครงการนี้มี กบอ.เป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติที่มีตนเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นตามวาระคือ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสพภัย (ศปภ.) เพื่อเผชิญเหตุ ส่วน กยอ.และ กยน.เป็นหน่วยงานที่วางแผนเพื่อส่งให้ กบอ.ปฏิบัติ
ทั้งนี้ การดำเนินการของรัฐบาลที่ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีการนำไปใช้อย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยมีการระดมความเห็นจากบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศกว่า 200 บริษัท ที่คัดเลือกแล้วขณะนี้เหลือ 37 บริษัท ที่แบ่งเป็น 8 กลุ่ม เพื่อเสนอแผนบริหารจัดการน้ำ โดยขณะนี้มีเอกสารจำนวนกล่าว 1,500 กล่อง ที่เป็นข้อมูลรายละเอียดที่แต่ละบริษัทส่งมา โดยจะมีคณะทำงานจำนวน 30 คนที่ตนยืนยันว่าไม่เคยเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใดมาก่อนและไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ เพราะอาจนำไปสู่การวิ่งเต้นเข้าหาเส้นสายในโครงการได้
จากนั้นจะมีตนในฐานะประธาน กบอ. และอนุกรรมการที่เป็นกลุ่มนักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้วิเคราะห์แผนดังกล่าว โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการพิจารณาข้อมูลเพื่อคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม ซึ่งแบ่งเป็น 10 ประเภท ประเภทละ 3 บริษัท และจะมีการวิเคราะห์อีกครั้งซึ่งเน้นด้านเทคนิคเป็นหลัก ให้เหลือประเภทละ 1บริษัท แล้วทำการเซ็นสัญญากับรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำ ภายในเดือนเมษายนปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าหากโครงการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะไม่เกิดปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ประชาชนจะเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างเสมอภาค และหลังจากนี้คณะกรรมการทั้ง 30 คน ที่ได้คัดเลือกในเบื้องต้นจะเป็นผู้ช่วยรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำ เพราะเป็นผู้ที่ทราบปัญหา เข้าใจถึงกระบวนการแก้ปัญหาเป็นอย่างดี