xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าเสนอให้หน่วยงานท้องถิ่นบูรณาการแก้ไขปัญหาแม่น้ำตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กรมเจ้าท่าเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแลแม่น้ำตรัง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำตรัง เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะตลิ่ง และเกิดสันดอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้บางแห่งเหลือความกว้างเพียงแค่ 30 เมตร เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ และการประกอบอาชีพของชาวบ้าน

นายสุธี สุขสง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง กล่าวว่า แม่น้ำตรังมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และเทือกเขาในเขต จ.กระบี่ ซึ่งมีความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 123 กิโลเมตร โดยไหลลงมาจากทางตอนเหนือผ่าน อ.รัษฎา และลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำกันตัง ซึ่งเดิมแม่น้ำสายนี้มีความกว้างราว 50 เมตร แต่ปัจจุบัน บางแห่งเหลือความกว้างเพียงแค่ 30 เมตร รวมทั้งยังมีปัญหากัดเซาะตลิ่ง หรือเกิดสันดอนขึ้นเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ และการกระทำบางอย่างของมนุษย์ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ การสัญจรทางเรือ และการประกอบอาชีพ

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำตรังจึงได้บูรณาการร่วมกันเพื่อระดมความคิดจัดทำแผนพัฒนาขึ้น ก่อนนำเสนอของบประมาณมาดำเนินการตลอดทั้งสาย อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาแม่น้ำตรังอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน ไม่ว่าเป็นภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม การเดินเรือ หรืออื่นๆ ดีกว่าจะให้หน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว โดยเฉพาะกรมเจ้าท่า ได้มอบอำนาจให้จังหวัด อำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแม่น้ำตรังไหลผ่าน สามารถเสนอเรื่อง และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเองได้ โดยมีสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเป็นผู้สนับสนุน

สำหรับการขุดลอกแม่น้ำตรังไม่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว เนื่องจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคไม่มีงบประมาณมากพอ และต้องจัดสรรไปใช้ในส่วนอื่นด้วย แต่เริ่มมีหลายๆ เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นำเสนอแนวคิด และเตรียมของบประมาณเข้ามาดำเนินการ เพราะหลายจุดเริ่มมีสภาพตื้นเขิน หรือคับแคบมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มในอำเภอเมืองตรัง เช่น ต.นาตาล่วง ต.หนองตรุด ซึ่งประชาชนที่ประสบปัญหาสามารถนำเสนอเรื่องต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งงบประมาณดำเนินการขุดลอก หรือรวมกลุ่มเสนอไปยังส่วนกลางเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณมาก็ได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น