xs
xsm
sm
md
lg

C&G เร่งสร้างโรงเผาขยะให้ กทม. ใช้ความร้อนปั่นไฟฟ้า-คาดแล้วเสร็จปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น” บริษัทกำจัดขยะจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลงทุน 900 ล้านบาท เร่งสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย ผลิตไฟฟ้าจากความร้อนสูงให้ กทม. คาดแล้วเสร็จหลังสงกรานต์ปี 57 ชี้ช่วยลดการฝังกลบ สามารถรองรับการกำจัดขยะ 300-500 ตัน/วัน ผู้บริหารยืนยันผ่านประชาพิจารณ์ด้านสิ่งแวดล้อมฉลุย เล็งเข้าประมูลรับงานในภาคตะวันออก และหัวเมืองท่องเที่ยวของไทยต่อ

นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการกำจัดขยะมูลฝอยปริมาณ 300-500 ตันต่อวัน ในพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย หนองแขม ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นระยะเวลา 20 ปี ว่า ตอนนี้โรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2/2557

โดย ซีแอนด์จี เป็นบริษัทแรกที่สามารถประมูลงานโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะในเขต กทม.ได้ ซึ่งที่ผ่านมา การใช้วิธีฝังกลบทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง และเริ่มขาดแคลนที่ดินในการฝังกลบ อีกทั้งยังมีปัญหาขยะรั่วซึมลงสู่แหล่งน้ำ

ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีใหม่ของบริษัทเชื่อว่าจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายหลักคือ การลดจำนวนขยะจากการฝังกลบ มาเป็นการเผาด้วยความร้อนสูงที่ไม่ทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล ลดก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ความร้อนต่ำ อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนปริมาณการนำเข้าถ่านหินที่ใช้ในโรงผลิตไฟฟ้า และการนำกากขี้เถ้าที่เหลือจากการเผากลับมาใช้ใหม่

สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะนี้ ใช้งบลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 6-7 เมกะวัตต์ ซึ่งงบลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมธนาคาร และการจัดสรรค์งบจากบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีศักยภาพในการกำจัดขยะที่ 300-500 ตัน/วัน โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม พุทธมณฑลสาย 3 มีขนาดพื้นที่ 30 ไร่ ซึ่งมีสัญญาที่ทำร่วมกันกับ กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 20 ปี ในการกำจัดขยะ และผลิตไฟฟ้าส่งขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รับซื้อในราคา 3.50 บาท/หน่วย และในอนาคตจะทำการก่อสร้างส่วนต่อขยายโรงงานเพิ่มเติม แต่ขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองที่มี ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และ GDP ที่เติบโตขึ้น โดยเมื่อครบสัญญา 20 ปี ก็จะโอนสิทธิส่งมอบโรงงานให้แก่ชุมชนท้องถิ่นดำเนินการต่อ

ในด้านเครื่องจักรที่ใช้สำหรับโครงการนี้ นายหนิง เหอ กล่าวว่า จะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดย บิลโบ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศจีน แต่บริษัท ซีแอนด์จี จะใช้เครื่องจักรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานระหว่างไฟฟ้าสถิตและแผ่นกรองดักจับสารพิษ โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในยุโรป ซึ่งสามารถกรองไอเสียฝุ่นละอองที่ปล่อยออกมาในอัตราเฉลี่ย 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดมลพิษ และสารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในโครงการดังกล่าว เพราะทั่วไปโรงงานไฟฟ้าในระบบเก่าจะใช้ไฟฟ้าสถิตเป็นตัวดักจับสารพิษที่หลงเหลือจากการเผาขยะ แต่ยังมีบางส่วนหลุดลอดออกมา

ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการทำงานโรงไฟฟ้าจากเตาเผาขยะ จะเริ่มจากการบีบอัดขยะเป็นก้อนเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง ใส่รถบรรทุกฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และกำจัดกลิ่น จะขนไปเทในบ่อปิดโดยมีเครนทำหน้าที่ตักมูลฝอยป้อนเข้าสู่เตาเผาที่อุณหภูมิสูง 850-1,100 องศาเซลเซียส ซึ่งมีแผ่นตะกรับที่พลิกเกลี่ยขยะมูลฝอยให้เผาใหม้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการเผาไหม้ได้อย่างหมดจด และความร้อนที่ได้จากการเผาขยะจะถูกส่งไปยังหม้อไอน้ำแรงดันสูง เข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ

ส่วนของเถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้ คือสารอินเนิร์ต (Inert) ที่ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาในปริมาณต่ำกว่า 3% ของน้ำหนักกากเถ้าทั้งหมด เป็นไปตามกฎข้อบังคับตามมาตรฐานยุโรป จะถูกนำไปฝังกลบ หรือแปรรูปเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ขณะที่เถ้าลอยที่ดักจับได้จากระบบดักฝุ่น จะถูกส่งไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อนต่างๆ เช่น สารกรด สารโลหะหนัก และสารไดออกซิน และนำไปกำจัดตามตามข้อกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีระบบกรอง 2 ชั้นด้วยไฟฟ้าสถิต และคาร์บอนดักจับตะกอน ซึ่งจะมีเครื่องตรวจวัดตลอด 24 ชั่วโมงของระบบกำจัดน้ำเสียของโรงงาน และจะถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ โดยไม่มีการปล่อยทิ้งออกมาภายนอกโรงงาน ขณะที่ในส่วนของไอเสียที่เหลือจากการเผาใหม้จะถูกบำบัดจนได้มาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศต่อไป

“ก่อนการก่อสร้างได้มีการสำรวจทำประชาพิจารณ์ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) เสนอ กทม.และกรมควบคุมมลพิษแล้ว มีการสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบโรงงาน และได้รับการรับรองจากกรมควบคุมมลพิษ โดยมีหน่วยงานอิสระ คือ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการยากที่จะอธิบายแก่ชุมชนถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม เพราะชาวบ้านที่อยู่รอบๆ โรงงานมีความกังวลในส่วนของการบริหารจัดการขยะของ กทม. มากกว่าของโรงงานผลิตไฟฟ้า แต่ตอนนี้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงมีความเข้าใจต่อการดำเนินงานกำจัดขยะมูลฝอยของบริษัทมากขึ้น หลังจากเข้าไปเชิญชวนคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน”

สำหรับ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากขยะ ในรูปแบบ BOT (ก่อสร้าง-ดำเนินการ-โอนสิทธิ) โดยมี IFC (บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือธนาคารโลก (World Bank) เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นผู้สนับสนุนกิจการของบริษัท พร้อมให้การรับรองว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ซีแอนด์จี มีโรงงานไฟฟ้า 10 โรงในประเทศจีน มีกำลังการกำจัดมูลฝอย 10,350 ตัน/วัน ซึ่งบริษัทฯ ยังสนใจเข้าไปดำเนินโครงการใหม่ๆ ในภาคตะวันออกและเขตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และต่างประเทศ เช่น กุ้ยโจว และเมืองกุ้ยหยาง ประเทศจีน โดยอยู่ในช่วงระดมทุนเพื่อขยายโรงงานร่วมกับบริษัทในต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น