ผู้ว่าการ ธปท. เผยการปรับลด ดบ.นโยบา เพื่อประคอง ศก.ชะลอตัว ยันไม่ได้ค้านการปรับลด ดบ. ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง ยอมรับมีการติดตามข้อมูลการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อรถยนต์ เพราะรายได้ของประชาชนไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ย้ำหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งไม่เกี่ยวกับการปรับลด ดบ. เตรียมทบทวนเป้าจีดีพี ก.ค.นี้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงาน สัมมนา มองไปในอนาคตกับ CEO วิศวฯ จุฬา โดยระบุว่า ธปท. มีการติดตามดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และมีการรักษาสมดุลการสร้างเสถียรภาพระบบทางการเงิน และเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจที่มีอัตราการเติบโต
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ถือว่ามีอัตราการเติบโตแบบไม่รวดเร็วแบบที่คาดหวังไว้ การลงทุนส่วนใหญ่ยังชะลอตัว การส่งออกติดลบบ้างในช่วงแรก ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ก็เห็นได้ว่ารากฐานเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้อมีอัตราการชะลอตัวไม่สูงมาก แม้จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 3 เดือนแรกไปบ้าง
“ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่นิ่งนอนใจ หรือไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง ซึ่งหากดูการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วร้อยละ 0.75 ซึ่งสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงได้”
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยไม่น่าจะเป็นแรงกดดันให้หนี้ภาครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ติดตามข้อมูลการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อรถยนต์ เพราะรายได้ของประชาชนไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ แต่ก็มีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการทบทวนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากนโยบายในการดูแลของ ธปท. แล้ว ภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 คือการพัฒนาคุณภาพสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกัน ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ก็จะมีมาตรการผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน และการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเสถียรภาพอย่างมั่นคง ซึ่งขณะนี้ก็มีการผ่อนปรนในระบบโดยการเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกรรมด้วยพันธบัตรผ่านมาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แทน