“กิตติรัตน์” เตรียมออกประกาศกระทรวงคลัง ดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก ให้สมดุล โดยพบว่าปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้า-ออกสูงกว่าเมื่อวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ถึง 3 เท่า เป็นต้นเหตุของบาทแข็ง พร้อมระบุที่ประชุม ครม. วันนี้ เห็นชอบกรอบนโยบายแก้ ศก.ภาพรวม
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง เตรียมแก้ไขประกาศกระทรวงฯ โดยอยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกให้มีความสมดุลเหมาะสม อยู่ในอำนาจที่ รมว.คลังจะสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมหากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกก็สามารถดำเนินการได้ทันที จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ไว้
“ที่ต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก เพราะปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าออกสูงกว่าเมื่อวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ถึง 3 เท่า ซึ่งขณะนั้นมีเงินทุนไหลเข้า 2 ล้านล้านบาท แต่พอขณะนี้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามามาก สถานการณ์ต่างจากเดิม เพราะยุคนั้นมีสภาพคล่องสูง แต่ขณะนี้การไหลเข้าสูงเกินไปทำให้ค่าเงินแข็งค่า” นายกิตติรัตน์ ระบุ
รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบในวันนี้ คือ กรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2556 ที่เป็นการบูรณาการการทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่มีปัญหาฟองสบู่เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รวบรวมมาตรการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค คือ นโยบายการเงิน การคลัง และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจุลภาคใน 8 ด้าน เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
ที่ผ่านมา การบริหารเศรษฐกิจมหภาค และจุลภาคมีความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้มีปัญหาดังเช่นในต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องดูแลให้สอดคล้องกัน โดยประเด็นนี้ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้จะมีมาตรการระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.รับทราบกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2556 แล้ว ได้มอบหมายให้แต่ละส่วนราชการกลับไปดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานให้ ครม.รับทราบทุกสัปดาห์ และทำรายงานเสนอประจำทุกเดือนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลจะชี้แจงเรื่องนี้ในระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวันพรุ่งนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นต้องดูแลไม่ให้สูงกว่าคู่แข่ง และคู่ค้า อีกทั้งต้องอยู่ในระดับที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ และทำให้เกิดการออม แต่การจะให้ระบุลงไปว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรอยู่ที่ระดับใดนั้นคงไม่สามารถทำได้ ขณะที่มาตรการการคลังจะต้องดูแลเรื่องการบริหารรายรับ-รายจ่ายของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีวินัย รวมทั้งการออมภาคครัวเรือน
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดนให้โตขึ้น 30% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าอยู่ 9 แสนล้านบาท เพื่อจะได้นำมาชดเชยกับเศรษฐกิจในด้านอื่นที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าด้วย