ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเรตติ้งเอสเอ็มอีแบงก์ ระยะยาวที่ ‘AAA (tha)’ จาก ‘AA+ (tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เชื่อธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
รายงานข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แจ้งว่า บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของเอสเอ็มอีแบงก์ระยะยาวที่ ‘AAA (tha)’ จาก ‘AA+ (tha)’ สะท้อนถึงการที่ฟิทช์ได้มีการทบทวนความสำคัญของธนาคารต่อรัฐบาลในการสนับสนุนนโยบายรัฐ ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เข้ามาดูแลสภาพคล่องของธนาคารใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้สูงที่เอสเอ็มอีแบงก์จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และธนาคารมีสถานะทางกฎหมายเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจพิจารณาชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคาร หากได้รับความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายรัฐในการให้การสนับสนุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ฟิทช์เชื่อว่าแนวโน้มที่เอสเอ็มอีแบงก์จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่มีความแตกต่างจากธนาคารรัฐอื่นที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่าประเทศไทย
เอสเอ็มอีแบงก์ได้รับการสนับสนุนเพิ่มทุนจากรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนมีความล่าช้าจนทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินทุนต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ซึ่งอัตราเงินทุนดังกล่าวได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ จากการสนับสนุนในด้านสภาพคล่องจากภาครัฐที่ให้แก่ธนาคารยังคงมีความแข็งแกร่ง
ฟิทช์ระบุเพิ่มเติมว่า คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอเป็นความท้าทายหลักของเอสเอ็มอีแบงก์ ทั้งนี้ ธนาคารกำลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะลดระดับหนี้ด้อยคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อและการติดตามหนี้ กระทรวงการคลังได้ทำการเฝ้าติดตามสภาพคล่องของธนาคารอย่างใกล้ชิด และในบางโอกาสได้ให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่อง โดยกระทรวงการคลังทำการบริหารจัดการเงินฝากภาครัฐ รวมทั้งธนาคารรัฐที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งได้ให้การสนับสนุนทางด้านวงเงินเสริมสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารคาดว่าจะได้รับการเพิ่มทุนในจำนวนที่มีนัยสำคัญจากทางภาครัฐในปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557 หากธนาคารสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากมีการมองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐอ่อนแอลง ซึ่งอาจเกิดจากการแก้ไขกฎหมาย หรือการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายและสัดส่วนการถือหุ้น รวมทั้งหากบทบาทหน้าที่ของธนาคารลดลง
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิด เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และธนาคารยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา SMEs ไทยที่มีฐานะการเงินอ่อนแอและยังไม่สามารถรับบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้
fref=ts" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *